หมอธีระเผย สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย พบผู้ป่วย "ปอดอักเสบ" เพิ่มถึง 10.77% ตายพุ่ง สวนทางกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 14 ของโลก
สถานการณ์โควิด-19 วันนี้ (24 มี.ค. 65 ) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 27,024 ราย ติดเชื้อสะสม 3,450,980 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 82 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 24,579 ราย และผลตรวจจาก ATK / เข้าข่ายติดเชื้อ 26,768 ราย
ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat อัปเดตสถานการณ์ "โควิด" ในประเทศไทย ระบุว่า
• หนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ปอดอักเสบเพิ่มขึ้นจาก 1402 คน เป็น 1,553 คน เพิ่มขึ้น 10.77%
• ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มจาก 504 คน เป็น 583 คน เพิ่มขึ้น 15.67%
• จำนวนติดเชื้อรวม ATK ของวันนี้ เพิ่มขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อน 15.18% แต่ลดลงกว่าสองสัปดาห์ก่อน 25.78%
• บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อเพิ่มถึง 478 คน สูงที่สุดเท่าที่เคยระบาดมา (ชาย 81, หญิง 395, ไม่ระบุ 2)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• โควิดวันนี้ 24 มี.ค. 65 ติดเชื้อเพิ่ม 27,024 ราย เสียชีวิต 82 ราย
• เช็กที่นี่! วิธีตรวจ ATK หาเชื้อโควิด “โอไมครอน” ตรวจตอนไหนผลแม่นที่สุด?
• เช็กเลย! เปรียบเทียบประสิทธิภาพยารักษาโควิด 4 ชนิด สรรพคุณต่างกันอย่างไร
ดูลักษณะรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเห็นแนวโน้มการระบาดที่เพิ่มขึ้น น่าจะเป็นผลมาจากทั้งเรื่องไวรัสสายพันธุ์ BA.2 ที่แพร่ไวขึ้น และพฤติกรรมการป้องกันตัวระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ในช่วง 7-10 วันข้างหน้า ควรเคร่งครัด ป้องกันตัวให้ดี เนื่องจากอาจเป็นช่วงสำคัญ หากป้องกันไม่ดีพอ จะยิ่งแพร่เชื้อกันได้มากตอนสงกรานต์และเกิดผลกระทบตามมาเป็นโดมิโน่
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.13 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.22
การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 37.69 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 31.61
สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก
อัพเดตงานวิจัย
• ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นหลังจากฉีดวัคซีน ChAdOx1 และ Ad26
Kim AY และคณะ เผยแพร่งานวิจัยทบทวนอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมาน ในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้อระดับสากล International Journal of Infectious Diseases เมื่อวานนี้ 23 มีนาคม 2565
โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันอยู่ที่ 28 ครั้งต่อการฉีดวัคซีน 100,000 โดส
บริเวณที่เกิดอุดตันบ่อยได้แก่ หลอดเลือดดำในสมอง 54%, หลอดเลือดดำในปอดหรือขา 36%, และในช่องท้อง 19%
การเกิดลื่มเลือดอุดตันนั้นมักพบบ่อยในเพศหญิง และพบในคนอายุน้อยกว่า 50 ปี
คนที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันนั้นมีถึง 91% ที่ตรวจพบ antiplatelet factor 4 (anti-PF4) antibody
อัตราการเสียชีวิตหากเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน 32%
• หลังฉีดวัคซีน หรือหลังติดเชื้อ พบว่าภูมิคุ้มกันระดับเซลล์คงอยู่ไปถึงอย่างน้อย 15 เดือน
Wragg KM และคณะ จากประเทศออสเตรเลียทำการศึกษาพบว่า หลังฉีดวัคซีน หรือหลังเกิดการติดเชื้อ แม้ระดับภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดหรือแอนติบอดี้จะลดลงไป แต่พบว่าภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ T cells นั้นขึ้นโดยอยูระดับคงที่ตั้งแต่ 6 เดือน และคงอยู่ได้นานถึง 15 เดือน
• ติดโควิด-19 จะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน
Scherer PE และคณะ ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการแพทย์ ชี้ให้เห็นว่าปัจจุบันมีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ยืนยันว่า หลังติดเชื้อโควิด-19 ไป แม้จะรักษาหายไปแล้ว แต่จะเกิดผลกระทบระยะยาว หรือ Long COVID ซึ่งส่งผลกระทบได้หลายระบบในร่างกาย รวมถึงปัญหาการเกิดโรคเบาหวาน
ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
...ยืนยันว่าด้วยการระบาดทั่วโลกยังรุนแรง และการระบาดในประเทศไทยก็ยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ติดอันดับโลกดังที่เห็นจากตัวเลขรายวัน การประกาศจะให้เป็นโรคประจำถิ่นจึงเป็นไปได้ยาก
การระมัดระวังเสมอ ป้องกันตัวสม่ำเสมอเป็นกิจวัตร ไม่ได้แปลว่าต้องหยุดใช้ชีวิตหรือหยุดทำมาหากิน
เลิกสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้เกิดมายาคติ ปลุกปั่น มอมเมา ให้คนเข้าใจผิดว่าจะทำมาหากินได้ก็ต่อเมื่อจะต้องประกาศให้เป็นโรคประจำถิ่น ไม่กลัวติดโรค ไม่ป้องกันตัว และหวนกลับไปทำตัวเหมือนอดีตก่อนการระบาด
แนวคิดมายาคติข้างต้นจะนำไปสู่การติดเชื้อแพร่เชื้อกันมากมายในสังคม เรียกร้องเสรีการใช้ชีวิต แต่ไม่รับผิดชอบต่อการกระทำที่ทำให้คนอื่นในสังคมเดือดร้อนจากการติดเชื้อ ป่วย ตาย หรือทุพลภาพระยะยาวจาก Long COVID
ใช้ชีวิต ทำมาหากิน แต่ทำอย่างปลอดภัย มีสติ ป้องกันตัวอย่างดี ก็จะลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อได้
เคร่งครัดมาก ความเสี่ยงก็จะน้อยลงตามลำดับ
อนาคตของการใช้ชีวิตโดยยังมีโรคระบาดนั้น ไม่ใช่การใช้ชีวิตในรูปแบบอดีตที่อันตรายและไม่เหมาะสมกับสังคมที่มีโรคระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบระยะยาวอย่าง Long COVID
ที่มา : Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)