กรมการแพทย์ เปิดข้อมูลเทียบยารักษาโควิด 4 ชนิด เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มไหน ใครบ้างที่ห้ามใช้ มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร
นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้เผยถึงยารักษาโควิด ทั้ง 4 ตัวที่ใช้และกำลังจะนำมาใช้ในประเทศไทยซึ่งประกอบด้วย ฟาวิพาราเวียร์ (Favipiravir) เรมเดสซิเวียร์ (Remdesivir) โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) และแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid)
• ยาฟาวิพิราเวียร์
ยาฟาวิพิราเวียร์ ในช่วงแรกศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งกลไลการออกฤทธิ์ เป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป จากการทบทวนอย่างเป็นระบบ ล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยเฉพาะใน 14 วันสัดส่วนอาการดีขึ้นอยู่ที่ 86.9% โดยปัจจุบันยังไม่ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ แต่ช่วงไตรมาส 2-3 อาจพิจารณาให้ใช้ในหญิงตั้งครรภ์ได้ ส่วนค่ารักษาต่อคอร์ส 800 บาท
• ยาเรมเดซิเวียร์
ยาเรมเดซิเวียร์ มีกลไกการออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ US FDA ได้ให้การรับรองใช้ยาตัวนี้สำหรับการรักษาในภาวะฉุกเฉิน โดยให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีประโยชน์กับคนไข้ที่ทานยาไม่ได้ มีปัญหาการดูดซึม และใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเมื่อศึกษาวิจัย พบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น นอนรพ.ลดลง ใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ ค่ารักษาต่อคอร์ส 1,512 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• เช็กเลย! ยาเม็ดรักษาโควิด Paxlovid (แพ็กซ์โลวิด) ป้องกัน "โอไมครอน" ดีแค่ไหน
• โควิดวันนี้ 23 มี.ค. 65 ติดเชื้อเพิ่ม 25,164 ราย เสียชีวิต 80 ราย
• หมอยง แนะ "ตรวจเลือด" หาผู้ติดโควิดไม่มีอาการ - ประเมินยอดติดเชื้อในไทย
• ยาโมลนูพิราเวียร์
ยาโมลนูพิราเวียร์ นำเข้ามาถึงไทยแล้ว อยู่ในกระบวนการเตรียมพร้อมกระจาย หลังได้รับการอนุมัติจากอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข และศบค. ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์จุดเดียวกัน และลดความเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรง ขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ 800 มิลลิกรัม หรือ 4 แคปซูล โดยให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน ซึ่งยาตัวนี้ต้องให้ภายใน 5 วันหลังได้รับการวินิจฉัยเริ่มมีอาการ ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร มีค่ารักษาต่อคอร์สประมาณ 10,000 บาท
• ยาแพกซ์โลวิด
ยาแพกซ์โลวิด กลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน จะออกที่เอนไซม์ ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดโรคได้ ทำให้ลดความเสี่ยง 88% กรณีให้ภายใน 5 วันหลังมีอาการ พบว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ประเทศไทยจึงได้มีการสำรองยาตัวนี้ โดยกลางเดือนเม.ย.จะนำเข้า และกระจายในลำดับถัดไป ) ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ค่ารักษาต่อคอร์สประมาณ 10,000 บาท
ยาแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น เรมเดซิเวียร์ เป็นยาช่วยในกลุ่มที่มีอาการปานกลาง สามารถให้ได้ทางหลอดเลือดดำ และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งกลุ่มมีปัญหาการดูดซึมหรือการทาน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยังมีประโยชน์ และให้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ส่วนยา โมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิดเป็นยารับประทาน เป็นยาใหม่ ไม่ให้ในหญิงตั้งครรภ์ และให้นมบุตร