เตือนไม่ควรซื้อ ยาฟาวิพิราเวียร์ กินเอง เสี่ยงเจอยาปลอม เกิดอาการข้างเคียงรุนแรง การใช้ยาต้องได้รับการประเมินอาการและจ่ายยาจากแพทย์ เท่านั้น
สถานการณ์การโควิด-19 ในประเทศไทยยังคงน่าเป็นห่วง ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อยังคงพุ่งสูงแตะหลัก 2 หมื่นต่อวัน ทำให้สถานการณ์เตียงรักษาผู้ป่วยในประเทศเริ่มวิกฤต และยังมีผู้ป่วยอีกไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีอาการไม่รุนแรง หรือ กลุ่มที่ไม่มีอาการ ที่ต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน พยายามหาซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัส SARS CoV2 มารับประทานเองซึ่งไม่สามารถทำได้
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายเกี่ยวกับ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) เอาไว้ว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัส SARS CoV2 ที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งปัจจุบันเป็นยาหลักในการรักษาผู้ติดเชื้อ ตามแนวทางการดูแลรักษา โดยกรมการแพทย์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการลดปริมาณไวรัสได้ดี ถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ การใช้ยาชนิดนี้ต้องได้รับการประเมินอาการและจ่ายยาจากแพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น ยังไม่สามารถซื้อจากร้านขายยาทั่วไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
จุดให้บริการ เจอ แจก จบ มีที่ไหนบ้าง ใครตรวจเจอโควิด-19 ต้องทำอย่างไรเช็กเลย
สปสช. ปรับเกณฑ์เบิกจ่ายผู้ป่วยโควิด ผู้ป่วยนอก-Home Isolation
ยาฟาวิพิราเวียร์ ขาดแคลนหนัก แพทย์ชนบทเผยหลายโรงพยาบาลแทบไม่มีจะจ่ายแล้ว
ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยตรวจพบเชื้อไวรัสโควิดควรติดต่อที่โทร. 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าสู่ระบบการรักษา จากนั้นคอยหมั่นตรวจสอบตัวเองว่า มีอาการของโรค ต่าง ๆ หรือไม่ อาทิ มีไข้ ไอ เจ็บคอ และหายใจเหนื่อยหอบ
ผู้ป่วยติดเชื้อโควิดไม่ควรซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ที่ขายในแหล่งต่าง ๆ เช่น จากร้านค้าออนไลน์มารับประทานเอง เนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยา หรืออาจได้รับยาปลอม ยาไม่มีมาตรฐานที่ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ และผู้ที่ไม่ติดเชื้อยังไม่ต้องรับประทานยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากยาไม่มีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อ
รวมถึงผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการก็ไม่ต้องใช้ยาฟาวิพิราเวียร์เช่นกัน เนื่องจากส่วนมากผู้ป่วยสามารถหายได้เอง ไม่ต้องได้รับผลข้างเคียงจากยา และไม่แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์ เนื่องจากเพิ่มโอกาสในการเป็นพิษต่อตับ
ข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี