งานวิจัยชี้ จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดจริงอาจสูงกว่าที่รายงานอย่างเป็นทางการถึง 3 เท่าหรือกว่า 18 ล้านรายทั่วโลก เหตุ ผู้เสียชีวิตอาจไม่ได้รับการนับจากการขาดแหล่งที่มาของข้อมูล ระบบสาธารณสุขเข้าไม่ถึง ชี้ประเทศกลุ่มแอฟริกาใต้รายงานเพียง 10%
แม้การรายงานยอดเสียชีวิตจากโควิด-19 ทั่วโลกอย่างเป็นทางการจนถึงสิ้นปี 2021 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 6 ล้านราย แต่นักวิจัยคาดการณ์ว่าตั้งแต่ต้นปี 2020 จนถึงสิ้นปี 2021 มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ล้านราย
เป็นเพราะผู้เสียชีวิตเหล่านั้นอาจไม่ได้รับการนับอย่างเป็นทางการ เนื่องจากขาดแหล่งข้อมูลในการวินิจฉัยหรือการรายงาน แต่บางส่วนอาจเป็นผลมาจากผลกระทบทางอ้อมอื่น ๆ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในช่วงล็อกดาวน์ หรือความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ทำให้มีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะแยกแยะสาเหตุการเสียชีวิต
ไฮดอง หวัง (Haidong Wang) ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ ณ สถาบันเพื่อการวัดและประเมินผลด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington's Institute for Health Metrics and Evaluation) ระบุว่า การเสียชีวิตส่วนที่เกินมานี้คือผลกระทบที่แท้จริงของโควิด-19 ซึ่งแม่นยำมากกว่า เนื่องจากการรายงานผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 นั่นต่ำกว่าความเป็นจริงอย่างมาก
นักวิจัยที่นำโดยหวัง ได้วิเคราะห์อัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุใน 187 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลรายสัปดาห์หรือรายเดือน เพื่อนำมาสร้างแบบจำลองเพื่อประมาณการสำหรับประเทศอื่น ๆ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :
พบว่าเจ็ดประเทศ อาทิ อินเดีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เม็กซิโก บราซิล อินโดนีเซีย และปากีสถาน คิดเป็นสัดส่วนผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตทั้งหมดภายในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยเพียงอินเดียประเทศเดียวพบผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 ล้านราย ในขณะที่สหรัฐอเมริกาพบการเสียชีวิตมากกว่า 1.1 ล้านราย
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ยังสนับสนุนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในวงกว้าง โดย ก.พ. 2021 ได้มีการจัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติเพื่อสำรวจหัวข้อนี้
เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า "ช่องว่างของข้อมูล ที่ทันเวลา และถูกจัดแยกส่วน เป็นความท้าทายสำคัญของสาธารณสุขโลก โควิด-19 ได้สร้างความต้องการข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ว่าเราทุกคนจะคุ้นเคยกับจำนวนผู้เสียชีวิตในแต่ละวัน แต่ตัวเลขการตายโดยรวมกลับมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก"
"การเสียชีวิตโดยตรงจากโควิด-19 เป็นเพียงมุมมองที่แคบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายในวงกว้าง ความเสียหายในหลักประกันโควิด-19 นั้นกว้างกว่ามาก สิ่งสำคัญคือต้องระบุจำนวนนี้ให้ได้ เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องแจงทางเลือกให้รัฐบาลจัดลำดับความสำคัญในการแบ่งประเภทของระบบสาธารณสุขประจำกับระบบสาธารณสุขฉุกเฉิน" ตามคำแถลงของ WHO
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอัตราการเสียชีวิตส่วนที่เกิน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประมาณการในอนาคตของประชากรโลกและการเตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ แต่การประเมินความสามารถของระบบข้อมูลด้านสุขภาพของ WHO เมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่าในส่วนของแอฟริกา มีเพียง 10% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดเท่านั้นที่ลงทะเบียน
จากการศึกษาใหม่ อัตราการเสียชีวิตส่วนเกินในช่วงสองปีที่ผ่านมาของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 นั้นแตกต่างกันไปตามประเทศและตามภูมิภาค
โบลิเวีย บัลแกเรีย และเอสวาตีนี ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตส่วนที่เกินมากนี้มากที่สุด โดยแต่ละประเทศมีผู้เสียชีวิตเกินหกรายต่อทุก 1,000 คน นอกจากนี้อัตราการเสียชีวิตส่วนที่เกินมานี้ที่ถูกนับว่าสูง ยังมีในละตินอเมริกาแอนเดียน ยุโรปตะวันออกและกลาง และแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา
ทว่าห้าประเทศรายงานผู้เสียชีวิตในปี 2020 และ 2021 น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และไต้หวัน
หวัง กล่าวเสริมว่า สาเหตุการตายต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม แต่สมมติฐานคือนโยบายล็อกดาวน์ที่เข้มงวดในประเทศเหล่านี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากปัจจัยภายนอกน้อยลง เช่น อุบัติเหตุจราจร การสวมหน้ากากและการเว้นระยะห่างทางสังคมทำให้อัตราการเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่ลดลงในหลายประเทศ
"นั่นคือผลจากมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่เข้ามาช่วยลดการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ" หวัง กล่าว