svasdssvasds

สธ. ประเมินสมรรถนะไทยรับมือโควิด19 ระดับ ดีมาก พร้อมเป็นโรคประจำถิ่น ก.ค. 65

สธ. ประเมินสมรรถนะไทยรับมือโควิด19 ระดับ ดีมาก พร้อมเป็นโรคประจำถิ่น ก.ค. 65

นพ.รุ่งเรือง โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เผย องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกประเทศไทย มีสมรรถนะรับมือสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในระดับ "ดีมาก" อยู่ในระยะการปรับตัวเข้าสู่ โรคประจำถิ่น คาดต้นเดือนกรกฎาคม 2565 แต่ยังขอกลุ่มเสี่ยงรีบไปฉีดวัคซีนป้องกัน

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง ประธานคณะกรรมการ MIU และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงไทยที่มีทิศทางลดความรุนแรงลง นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงให้มีการวางแผน เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการเพื่อเข้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” อย่างดีสุด โดยเน้นการนำข้อมูลด้านระบาดวิทยาและวิชาการ การระดมความเห็นผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภายในและนอกกระทรวงสาธารณสุข การติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนทั้งในระดับชาติและพื้นที่ มาใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ

ล่าสุด ทีมวิจัยกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประเมินผลการรับมือสถานการณ์โควิด-19 โดยลงพื้นที่จริงทั้งในระดับประเทศ และในระดับพื้นที่ จำนวน 8 พื้นที่หลัก และ 44 พื้นที่ย่อย เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย การเตรียมความพร้อมและมาตรการสำคัญในการรับมือสถานการณ์ในระยะถัดไปจนเข้าสู่การยุติการระบาด โดยประเมินตามสมรรถนะหลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) และถอดบทเรียน ทบทวนหลังปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) พบว่า

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

1.ประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุข มีสมรรถนะและการรับมือสถานการณ์อยู่ในระดับดีมาก ใน 7 องค์ประกอบหลัก เช่น ภาวะผู้นำ การบริหารจัดการ กำลังคน ยา เวชภัณฑ์ วัคซีน ระบบบริการ การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ

2. ขณะนี้ สถานการณ์ส่วนใหญ่ทั่วโลกและไทย อยู่ในระยะการปรับตัวเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่เป็น “โรคประจำถิ่น” จากปัจจัยของเชื้อที่ลดความรุนแรงลงมาก โดยขณะนี้สถานการณ์อยู่ในระยะทรงตัวและชะลอการเพิ่มจำนวน คาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับและเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นในต้นเดือน ก.ค. 2565 นี้

3) ระบบบริการการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ระบบป้องกันควบคุมโรค บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ และจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วย มีความพร้อมในการรับสถานการณ์ แต่ต้องปรับการดูแลรักษาผู้ป่วย ในลักษณะเดียวกับการดูแลผู้ป่วยโรคติดต่อทั่วไป

4) ระบบเวชภัณฑ์ ยา วัคซีน สามารถบริหารจัดการได้ดี มีจำนวนเพียงพอ

5) เร่งพัฒนาระบบสื่อสารให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และการจัดการข่าวปลอม เพื่อเตรียมพร้อมการเข้าเป็น "โรคประจำถิ่น" 

จากผลการศึกษา เมื่อเทียบเคียงสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ (Pandemic Influenza) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ขณะนี้เป็นการก้าวย่าง สู่การยุติการระบาดใหญ่ และปรับตัวไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic)

ความสำเร็จในการก้าวข้ามวิกฤตการณ์โควิด 19 วิกฤตการณ์ด้านสุขภาพที่รุนแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ให้สิ้นสุดลง ไม่สามารถทำได้โดยกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานสุขภาพเพียงฝ่ายเดียว ความสำเร็จจะต้องเกิดจาก นโยบาย การบริหารจัดการและมาตรการในระดับชาติและพื้นที่ ให้เกิดการบริหารจัดการด้วยพลังความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากประชาชน

"หากเทียบเคียงกับการระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2019 เมื่อพ.ศ. 2552 ขณะนี้เป็นการเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่ และปรับตัวไปเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งวิกฤตโรคโควิด-19 ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงได้ ก็ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งการบริหารจัดการและมาตรการในระดับชาติและพื้นที่ พลังความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และที่สำคัญคือ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือจากประชาชน" นพ.รุ่งเรือง กล่าว

related