svasdssvasds

"ซากเชื้อโควิด" คืออะไร ไม่สามารถแพร่เชื้อ - ไม่ก่อโรคได้จริงหรือ

"ซากเชื้อโควิด" คืออะไร ไม่สามารถแพร่เชื้อ - ไม่ก่อโรคได้จริงหรือ

ซากเชื้อโควิด เป็นแค่เพียงการอักเสบที่ยังตกค้างอยู่ และจะหายไปเองในที่สุด ไม่สามารถก่อโรคได้ โดยผู้ป่วยที่ได้รับการกักตัวจนครบกําหนด จะถือว่าพ้นระยะแพร่เชื้อสามารถใช้ชีวิตทางสังคมได้อย่างปกติ ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำอีก

 จากกรณีที่กรมควบคุมโรค(คร.) ร่วมกับ รพ.รามาธิบดี ให้ข้อมูลว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายหนึ่ง เคยทำงานที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กลับถึงไทยเข้ารับการกักตัวในสถานที่ของรัฐการตรวจหาโควิดครั้งที่ 1 พบสารพันธุกรรมปริมาณน้อย สรุปผลของการตรวจครั้งแรก ผลกำกวม และครั้งที่ 2 ผลไม่พบเชื้อ เมื่อกักตัวครบ 14 วัน ได้รับอนุญาตให้กลับภูมิลำเนาทำการพักแยกตัวจนครบ 30 วันตามมาตรฐาน

 ต่อมาได้เข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อหาโควิด-19 เตรียมไปทำงานต่างประเทศที่ รพ.รามาธิบดี ผลออกมาพบสารพันธุกรรมในปริมาณน้อย จึงมีการเจาะเลือดตรวจพบมีภูมิคุ้มกัน จึงเป็นผู้ติดเชื้อรายเดิม ที่มีการตรวจพบซากเชื้อโควิด ไม่มีความสามารถในการแพร่โรค เท่ากับเป็นการตรวจพบเชื้อซ้ำในผู้ป่วยรายเดิม แต่เป็นเพียงซากไวรัส ไม่มีชีวิต แพร่เชื้อต่อไม่ได้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• โควิดวันนี้ ติดเชื้อเพิ่ม 23,618 ราย เสียชีวิต 49 ราย

• ผู้ป่วย "โอไมครอน" ที่รักษาแบบ Home Isolation อาการแบบไหนต้องระวัง

• เช็กเลย! ผู้ปกครองที่ต้องดูแลเด็กติดโควิด-19 ควรทำอย่างไรบ้าง

การ “ตรวจหาเชื้อ” คืออะไร

 การวินิจฉัยโรคติดเชื้อทุกชนิด คือการตรวจพบตัวเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนั้น เชื้อโรคต่างชนิดกัน จะมีวิธีการตรวจหาเชื้อแตกต่างกันไป ทางการแพทย์จะใช้วิธีเพาะเชื้อ เป็นวิธีที่สะดวกที่สุดแต่กรณีการติดเชื้อไวรัสเกือบทุกชนิด รวมทั้งโควิด-19 การเพาะเชื้อทําได้ยาก และต้องเป็นห้องปฏิบัติการพิเศษที่มีระบบความปลอดภัยที่เข้มงวดมาก จึงไม่สะดวกในการใช้

เทคนิคการตรวจหาเชื้อที่นิยมใช้ มี 2 วิธีหลักๆ คือ

• การตรวจหาส่วนประกอบของเชื้อ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมด้วยวิธีการขยายจํานวนเฉพาะส่วนสารพันธุกรรมของเชื้อ ที่เรียกว่า PCR (ชื่อเต็มคือ polymerase chain reaction 

• การตรวจหาโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของไวรัสที่ทางการแพทย์เรียกว่าแอนติเจน (antigen)

 ทั้งสองวิธีนี้ใช้สิ่งส่งตรวจที่ป้ายจากหลังโพรงจมูก (แยงจมูก) เหมือนกัน แต่การตรวจหาสารพันธุกรรม จะมีความแม่นยําในการวินิจฉัยมากกว่า และเป็นวิธีการมาตรฐานในการวินิจฉัยโควิด-19

 เมื่อผู้ติดเชื้อมีอาการ หรือมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันถ้าต้องการทราบว่าติดเชื้อมาหรือไม่แพทย์ก็มักจะแนะนําให้รับการตรวจหาสารพันธุกรรมนี้ ถ้าตรวจพบ ก็จะให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 10 - 14 วันเป็นอย่างน้อย แต่ถ้ามีอาการหนัก ก็อาจจะต้องอยู่นานกว่านั้น

ผู้ป่วยจะทราบได้อย่างไรว่าหายจากโรคแล้ว

 การที่จะบอกว่าผู้ป่วยหายจากโรคติดเชื้อโดยทั่วไป อาจบอกได้จากการประเมินอาการ และบางเคสก็อาจจะตรวจหาเชื้อซ้ำว่าเชื้อหมดจากร่างกายของผู้ป่วยหรือยังแต่สําหรับโควิด-19 การตรวจหาเชื้อซ้ำ จะทําให้สับสนมาก เพราะสารพันธุกรรมของเชื้อ SARSCoV-2 (ไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรค) จะคงอยู่ในร่างกายของผู้ป่วยเป็นเวลานานมาก บางรายอาจจะนานถึง 3 เดือน

 ทั้งนี้มีการทดลองเอาสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยไปตรวจหาสารพันธุกรรม และเพาะเชื้อไปพร้อมกัน ถ้าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากจะตรวจพบทั้งสารพันธุกรรม และยังเพาะเชื้อได้ตัวไวรัสอยู่หลังจากมีอาการไม่เกิน 7 วัน แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยอาการหนักหรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ จากการได้ยากดภูมิหรือจากโรคเดิม ก็จะเพาะเชื้อได้นานประมาณ 3 สัปดาห์

 เมื่อพ้นจากระยะเวลาดังกล่าวแล้ว (7 วัน ) สําหรับผู้ป่วยทั่วไป 21 วันสําหรับผู้ป่วยอาการหนักหรือภูมิคุ้มกันต่ำ) เกือบทั้งหมดจะเพาะเชื้อไม่ขึ้นคือเชื้อไม่สามารถเจริญเติบโตและแบ่งตัวได้อีกต่อไปทั้ง ๆ ที่ยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้ออยู่บางคนจึงเรียกเหตุการณ์นี้ว่า พบซากเชื้อ

"ซากเชื้อโควิด" ไม่สามารถก่อโรคได้ และไม่เป็นอันตราย

 จากการศึกษาในไต้หวัน พบว่า ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ก่อนที่จะมีอาการประมาณ 2 วัน ไปจนถึง 6 วัน นับจากวันที่มีอาการวันแรก จะติดเชื้อจากผู้ป่วยได้ แต่ถ้ามีการสัมผัสหลังจากนั้น จะไม่มีใครติดเชื้อเลย

 การติดตามผู้ป่วยหลาย 100 รายที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ในประเทศเกาหลีใต้ ก็ไม่พบว่ามีใครติดเชื้อจากผู้ที่หายจากโรคแล้วเหล่านั้นเลย แม้ว่าจะยังตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อในสารคัดหลั่งของผู้ที่หายจากโรคแล้ว

 ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจนครบกําหนดระยะเวลาแล้ว จึงถือว่าพ้นระยะแพร่เชื้อสามารถใช้ชีวิตทางสังคมได้อย่างปกติ แม้ว่าบางคนอาจจะมีอาการหลงเหลือเล็กน้อย แต่อาการนั้นไม่ใช่อาการที่แสดงว่ายังมีเชื้ออยู่ เป็นแต่เพียงการอักเสบที่ยังตกค้างอยู่ และจะหายไปเองในที่สุด

 “การตรวจหาเชื้อ” จึงไม่มีความจําเป็น ไม่มีประโยชน์ใด ๆ และสร้างความสับสน เพราะสิ่งที่พบ คือ สารพันธุกรรม ที่เหลืออยู่ (ซากเชื้อ) ไม่สามารถก่อโรคได้ แต่ ทําให้เข้าใจผิด ว่าบุคคลนั้นยังไม่หายจากโรคทั้ง ๆ ที่ความจริงคือ เขาหายป่วยและไม่แพร่เชื้อแล้ว

 ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายไว้ว่า การตรวจพบเชื้อซ้ำ สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งการตรวจเชื้อโดยการหาสารพันธุกรรม อาจยังพบพันธุกรรมของไวรัสได้ แต่จะเพาะเชื้อไม่ขึ้น เนื่องจากเป็นไวรัสที่ถูกร่างกายทำลายแล้ว ซึ่งในประเทศไทยและต่างประเทศก็มีการรายงานเช่นเดียวกัน โดยหลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อกลุ่มดังกล่าวแล้ว โดยมีรายงานการศึกษาวิจัยในต่างประเทศ พบว่า เมื่อหายป่วยโควิดแล้วเชื้อไวรัสยังมีอยู่ในร่างกายได้นานถึง 30 วัน

 ส่วน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการพบเชื้อในผู้ที่พ้นการกักกันโรค 14 วันว่า มีความเป็นไปได้ใน 4 ประเด็น คือ

• ระยะฟักตัวของโรคส่วนใหญ่จะเป็น 2 - 7 วัน อาจพบได้ถึง 14 วัน และอาจจะเป็นไปได้น้อยมากถึง 21 วัน ดังนั้นในทางปฏิบัติผู้ที่พ้นระยะการกักกันโรค 14 วัน มักจะแนะนำให้ไปกักกันที่บ้านต่ออีก 14 วันเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการป้องกัน การกระจายโรค

• การตรวจพบเชื้อหลังจาก 14 วันไปแล้ว เป็นไปได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วง 14 วันที่อยู่ในสถานที่กักกัน ในอดีต เช่น ในเรือสำราญ ดังนั้นในสถานที่กักกัน เราจึงเคร่งครัด ไม่ให้มีการพบปะกัน ระหว่าง ผู้ที่กักกันด้วยกัน หรือบุคคลภายนอก

• ผู้ป่วยมาติดเชื้อในประเทศไทย โอกาสนี้เป็นไปได้น้อยมาก ขณะนี้ไม่พบการติดต่อเกิดขึ้นในประเทศไทยมากว่า 80 วันแล้ว

• ความเป็นไปได้ที่ผู้นั้นติดเชื้อมาจากต่างประเทศ หรือป่วยอยู่ต่างประเทศแล้ว และเมื่อมาถึงเมืองไทย เชื้อมีปริมาณน้อย ในบางช่วงก็ตรวจไม่พบ และต่อมา หรือบางช่วง ก็ตรวจพบ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ , RAMA CHANNEL 

related