เตือนภัย! 6 ข้ออ้าง สายเรียกเข้าจากมิจฉาชีพที่มักใช้จะหลอกเหยื่อ ลักษณะกลโกง พร้อม 3 วิธีตรวจสอบ E-mail Scam ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
อาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้หลายอาชีพต้องตกงานและหาทางกู้ยืมเงิน ซึ่งอาจทำให้หลายๆ คนตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่โทรเข้ามาเสนอทางเลือก เชื่อว่าใครหลายคนจะเคยเจอกันมาบ้าง มีเบอร์โทรแปลกโทรเข้ามาพอรับสายบอกเราเป็นผู้โชคดี ได้รับรางวัลเป็นเงินสด ของสมนาคุณต่างๆ ให้คุณโอนเงินค่าจัดส่ง ค่ามัดจำ หรือขอหมายเลขบัญชีต่างๆ อย่าหลงเชื่อโดยเด็ดขาด เพราะคุณอาจเป็นหนึ่งคนที่โดนมิจฉาชีพหลอกได้
เพจเฟซบุ๊ก "ตำรวจสอบสวนกลาง" ได้แจ้งข้อมูลว่า สายเรียกเข้าที่ท่านกำลังคุยอยู่ตอนนี้ อาจจะเป็นมิจฉาชีพโทรมาคุยกับท่านก็เป็นได้ โดยมิจฉาชีพกลุ่มนี้จะสุ่มเบอร์โทรศัพท์เพื่อติดต่อหาเหยื่อ หลังจากนั้นจะพูดคุยโน้มน้าว หรือข่มขู่ให้เหยื่อตกใจ หลงเชื่อ และโอนเงินให้มิจฉาชีพ
ลักษณะกลโกง
มิจฉาชีพจะสุ่มเบอร์เพื่อโทรศัพท์ไปหาเหยื่อ และใช้ข้อความอัตโนมัติสร้างความตื่นเต้นหรือตกใจให้กับเหยื่อ บางครั้งก็แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ หลอกให้เหยื่อทำรายการที่ตู้เอทีเอ็มเป็นเมนูภาษาอังกฤษโดยแจ้งว่าทำเพื่อล้างรายการหนี้สิน หรืออาจหลอกให้เหยื่อไปโอนเงินให้หน่วยงานภาครัฐเพื่อตรวจสอบ ซึ่งมิจฉาชีพเหล่านี้จะอาศัยความกลัว ความโลภ และความรู้ไม่เท่าทันของเหยื่อ โดยข้ออ้างที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อมีดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• 6 กลโกงมิจฉาชีพยอดฮิตที่มักแอบอ้างใช้ช่องทางไปรษณีย์ไทย
• How to ตรวจเบอร์แปลก เช็กเบอร์โทรศัพท์ เผื่อเป็นมิจฉาชีพ
• สรุปให้...DHL คืออะไร? หลังกลายเป็นบริษัทโปรดที่มิจฉาชีพลวงเหยื่อ
• บัญชีเงินฝากถูกอายัด/หนี้บัตรเครดิต
ข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด คือหลอกว่าเหยื่อถูกอายัดบัญชีเงินฝากและเป็นหนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างความตกใจแ ละง่ายต่อการชักจูงเหยื่อให้โอนเงิน โดยมิจฉาชีพจะใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติแจ้งเหยื่อว่าจะอายัดบัญชีเงินฝากเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น เป็นหนี้บัตรเครดิตหรือกระทำการผิดกฎหมาย โดยอาจมีเสียงอัตโนมัติ เช่น “คุณเป็นหนี้บัตรเครดิตกับทางธนาคาร กด 0 เพื่อติดต่อพนักงาน” เมื่อเหยื่อตกใจ ก็จะรีบต่อสายคุยกับมิจฉาชีพทันที หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะหลอกถามฐานะทางการเงินของเหยื่อ หากเหยื่อมีเงินจำนวนไม่มากนัก มิจฉาชีพจะหลอกให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม แต่หากเหยื่อมีเงินค่อนข้างมากจะหลอกให้ฝากเงินผ่านเครื่องฝากถอนอัตโนมัติ
• บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน
เมื่อมิจฉาชีพหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อแล้วพบว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีเป็นจำนวนมาก จะหลอกเหยื่อต่อว่าบัญชีนั้นๆ พัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือติดปัญหาการฟอกเงิน จึงขอให้เหยื่อโอนเงินทั้งหมดมาตรวจสอบ
• เงินคืนภาษี
ข้ออ้างคืนเงินภาษีจะถูกใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืน โดยมิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรแจ้งว่า เหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะต้องยืนยันรายการและทำตามคำบอกที่ตู้เอทีเอ็ม แต่แท้จริงแล้วขั้นตอนที่มิจฉาชีพให้เหยื่อทำนั้นเป็นการโอนเงินให้กับมิจฉาชีพ
• โชคดีรับรางวัลใหญ่
มิจฉาชีพจะอ้างตนเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือตัวแทนองค์กรต่างๆ แจ้งข่าวดีแก่เหยื่อว่า เหยื่อได้รับเงินรางวัลหรือของรางวัลที่มีมูลค่าสูง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อจะหลอกเหยื่อให้โอนเงินค่าภาษีให้
• ข้อมูลส่วนตัวหาย
ข้อมูลส่วนตัวหายเป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพใช้เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ โดยจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน เล่าเหตุการณ์ที่ทำให้ข้อมูลของลูกค้าสูญหาย เช่น เหตุการณ์น้ำท่วม จึงขอให้เหยื่อแจ้งข้อมูลส่วนตัว เช่น วัน/เดือน/ปีเกิด เลขที่บัตรประชาชน เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการใช้บริการของเหยื่อ แต่แท้จริงแล้ว มิจฉาชีพจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปประกอบการปลอมแปลงหรือใช้บริการทางการเงินในนามของเหยื่อ
• โอนเงินผิด
มิจฉาชีพจะใช้ข้ออ้างนี้เมื่อมีข้อมูลของเหยื่อค่อนข้างมากแล้ว โดยจะเริ่มจากโทรศัพท์ไปยังสถาบันการเงินที่เหยื่อใช้บริการ เพื่อเปิดใช้บริการขอสินเชื่อผ่านทางโทรศัพท์ เมื่อได้รับอนุมัติสินเชื่อ สถาบันการเงินจะโอนเงินสินเชื่อนั้นเข้าบัญชีเงินฝากของเหยื่อ หลังจากนั้นมิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปหาเหยื่ออ้างว่า ได้โอนเงินผิดเข้าบัญชีของเหยื่อ ขอให้โอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบยอดเงินและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงรีบโอนเงินนั้นไปให้มิจฉาชีพ โดยที่ไม่รู้ว่าเงินนั้นเป็นเงินสินเชื่อที่มิจฉาชีพโทรไปขอในนามของเหยื่อ
4 วิธีการเช็กเบอร์แปลก
• Google เช็กประวัติเบอร์เผื่อมีคนเคยแจ้งความข้อหาฉ้อโกง
นำเบอร์โทร. ที่โทรเข้ามา พิมพ์หมายเลขค้นหาใน Google เพื่อตรวจสอบประวัติเบอร์ผู้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวที่โทร.เข้ามาหา
• Facebook เช็กประวัติเผื่อเบอร์ดังกล่าวเชื่อมต่อทิ้งไว้และมีคนโพสต์เตือน
นำเบอร์โทร. ที่โทรเข้ามา พิมพ์หมายเลขค้นหาใน Facebook เพื่อตรวจสอบประวัติเบอร์ผู้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าว ซึ่งหากเบอร์โทรนั้น เคยผูกไว้กับบัญชีในเฟซบุ๊ก ก็มีสิทธิ์จะพบเบอร์โทร.เช่นกัน
• Line เช็กเผื่อเจอบัญชีจริง หากเบอร์ดังกล่าวเป็นตัวจริงไม่ใช่อวตาร
ค้นหาในไลน์ Line ทำตามขั้นตอนดังนี้ กดช่อง "เพิ่มเพื่อน" จากนั้นเลือก "หมายเลขโทรศัพท์" ถ้าหมายเลขนั้นผูกเบอร์โทรศัพท์ไว้กับไลน์ ก็มีสิทธิ์พบเบอร์โทรเช่นกัน
• WHOSCALL เช็กเบอร์มิจฉาชีพผ่านแอป แค่โหลดติดสมาร์ทโฟน
ใช้แอปพลิเคชัน WHOSCALL เพื่อค้นหาตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์ ที่โทร.เข้ามาหา โดยแอปพลิเคชันนี้ จะบันทึกเบอร์โทรศัพท์ของที่เราเมมเบอร์มิจฉาชีพไว้ หากมิจฉาชีพนั้น ใช้เบอร์โทรศัพท์มาหาก็จะทราบทันที แอปพลิเคชัน WHOSCALL สามารถโหลดใช้งานได้ทั้ง App Store และ Google Play
16 หมายเลขอันตราย ที่คาดว่าจะเป็นมิจฉาชีพ
• 093-509-7725
• 093-507-3541
• 093-079-2746
• 082-993-0738
• 082-993-1072
• 082-993-0515
• 082-993-0865
• 08-299-3292
• 082-993-0906
• 082-993-1058
• 093-572-4217
• 093-075-8402
• 093-507-3541
• 062-307-6192
• 084-787-6012
• 094-951-3183
ข้อสังเกตว่าอาจเป็นมิจฉาชีพ
• มิจฉาชีพจะหลอกถามข้อมูลจากเหยื่อ แล้วหลอกให้เหยื่อทำรายการผ่านตู้เอทีเอ็มโดยให้เลือกทำรายการเป็นภาษาอังกฤษ
• มิจฉาชีพจะใช้ข้ออ้างต่างๆ เร่งให้เหยื่อทำรายการ เพื่อไม่ให้เหยื่อมีเวลาตรวจสอบหรือสอบถามบุคคลอื่น
• มิจฉาชีพจะโน้มน้าวให้เหยื่อโอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มหรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติ ตามภาพประกอบด้านล่าง
วิธีป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ
• หากได้รับโทรศัพท์จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ควรทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นว่ามีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
• ไม่โลภอยากได้เงินรางวัลที่ไม่มีที่มา
• ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินแก่บุคคลอื่น ถึงแม้ผู้ติดต่อจะอ้างตัวเป็นส่วนราชการหรือสถาบันการเงิน เพราะส่วนราชการและสถาบันการเงินไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลวนตัวลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์
• ไม่ทำรายการที่ตู้เอทีเอ็ม หรือเครื่องฝากเงินอัตโนมัติตามคำบอกของผู้ที่ติดต่อมา
• ควรสอบถามข้อเท็จจริงกับสถาบันการเงินที่ถูกอ้างถึงหรือใช้บริการ โดยติดต่อฝ่ายบริการลูกค้า (Call Center)
• หากได้รับแจ้งว่ามีผู้โอนเงินผิดเข้าบัญชี ควรสอบถามสถาบันการเงินถึงที่มาของเงินดังกล่าว หากเป็นเงินที่มีการโอนผิดเข้ามาจริง จะต้องให้สถาบันการเงินเป็นผู้ดำเนินการโอนเงินคืนเท่านั้น
สิ่งที่ควรปฏิบัติเมื่อตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ
• รวบรวมหลักฐานและข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง
• ติดต่อฝ่ายบริการลูกค้าของสถาบันการเงินเพื่อระงับการโอนและการถอนเงิน
• หากไม่สามารถระงับการโอนเงินได้ ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลต่างๆ แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ พร้อมทั้งลงบันทึกประจำวัน ณ ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไป
• แจ้งระงับการถอนเงินออกจากบัญชีที่โอนไปกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการ โดยสถาบันการเงินจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน จึงจะสามารถคืนเงินได้
• แจ้งเบาะแสไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
• ทำใจ... เมื่อมิจฉาชีพได้รับเงินโอน จะรีบกดเงินออกจากบัญชีทันที ทำให้โอกาสที่จะได้เงินคืนนั้นน้อยมาก
ในปัจจุบันมิจฉาชีพได้ใช้วิธีการการส่งอีเมลปลอม หรือ แฮกอีเมล โดยแจ้งว่าสินค้างวดต่อไปให้ชำระที่บัญชีใหม่ (บัญชีที่คนร้ายเตรียมไว้เพื่อหลอกลวงผู้เสียหาย) หากผู้เสียหายไม่ได้ตรวจสอบโดยละเอียดอาจหลงกลโอนชำระค่าสินค้าไปยังบัญชีปลอม
ดังนั้นเมื่อบริษัท หรือพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการเงินได้รับแจ้งทางอีเมลว่ามีการเปลี่ยนบัญชีการชำระค่าสินค้าให้ทำการตรวจสอบรายละเอียด ดังนี้
• ตรวจสอบไปยังผู้เกี่ยวข้อง เช่น โทรศัพท์, วีดีโอคอล โดยสอบถามให้ชัดเจนว่ามีการเปลี่ยนบัญชีหรือช่องทางชำระเงินจริงหรือไม่
• ตรวจสอบชื่อ Email Address โดยละเอียดทุกตัวอักษรทุกครั้ง ว่าตรงกับบัญชีอีเมลที่ต้องการติดต่อด้วยหรือไม่
• ตรวจสอบเนื้อหาของอีเมล ในส่วนนี้อาจจะพิจารณาตามเนื้อหา โดยเนื้อหาจะต้องไม่เป็นการพยายามล้วงเอาข้อมูลผู้ใช้งาน หรือมีลิงก์ให้กดเพื่อเข้าไปกรอกข้อมูล หรือยอมรับให้เชื่อมต่อกับบัญชีของเรา ทั้งนี้อาจจะพิจารณาไปถึงไฟล์ที่แนบมาในอีเมลด้วย หากพบไฟล์นามสกุลต้องสงสัย ให้งดการกดดาวน์โหลดหรือพรีวิวไปก่อน แล้วทำการตรวจสอบกับผู้ส่งให้แน่ใจว่าได้ส่งไฟล์ชนิดนั้นมาให้หรือไม่
ขอบคุณข้อมูล : ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย , ตำรวจสอบสวนกลาง