"โอไมครอน" สายพันธุ์ย่อย BA.2 ระบาดแล้ว 57 ประเทศ แพร่เชื้อไวกว่าเดิม 30% แต่ความรุนแรงและดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไม่ต่างจาก BA.1
หลังจากที่ องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โควิด-19 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ "โอไมครอน" พบ "สายพันธุ์ย่อย BA.2" แล้วใน 57 ประเทศส่วนประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า พบผู้ติดเชื้อโอไมครอน BA.2 ในไทยเริ่มเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สามารถแพร่กระจายได้ไวกว่า BA.1
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า
อัพเดตสถานการณ์โลกจาก WHO
รายงานล่าสุดเมื่อวานนี้ 15 กุมภาพันธ์ 2565 จาก WHO Weekly Epidemiological Update ทั่วโลกมีจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ลดลง 19% และจำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 4%
การติดเชื้อใหม่มีแนวโน้มลดลงชัดเจนในแทบทุกทวีป ยกเว้นภูมิภาคแปซิฟิคตะวันตก แต่การเสียชีวิตนั้นเพิ่มขึ้นทุกทวีป ยกเว้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม หากดูสถิติรายสัปดาห์ของไทยรายสัปดาห์จาก Worldometer จะพบว่าติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึง 51% และตายเพิ่มขึ้นถึง 22% บ่งถึงสถานการณ์การรระบาดที่ยังรุนแรง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ทั่วโลกจับตา โอไมครอน BA.2 หวั่นติดง่ายกว่าสายพันธุ์หลัก ไทยพบ 9 ราย
• ศูนย์จีโนมฯ เผย โอไมครอน BA.2 พบติดเชื้อในไทย 2 ราย กลายพันธุ์ไป 70-80 ตำแหน่ง
• หมอยงชี้ "โอไมครอน" อัตราป่วยหนัก-เสียชีวิตยังต่ำ ไม่อันตรายเท่า "เดลตา"
ข้อมูลเกี่ยวกับ โอไมครอน BA.2
สรุปข้อมูลวิชาการล่าสุด มีสาระสำคัญดังนี้
• โอไมครอน BA.2 สามารถแพร่เชื้อได้ไวกว่า โอไมครอนสายพันธุ์เดิม BA.1 ถึง 30%
• ข้อมูลจากสหราชอาณาจักรและเดนมาร์ก โอไมครอน BA.2 สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัวได้มากกว่า โอไมครอนสายพันธุ์เดิม BA.1 ราว 30% (1.3 เท่า)
• ความรุนแรงขอโอไมครอน BA.2 ไม่ได้ต่างจาก BA.1
• เรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกันจากวัคซีนนั้น โอไมครอน BA.2 ไม่ได้ต่างจาก BA.1
• การตรวจคัดกรองโรคด้วยวิธีมาตรฐานยังสามารถตรวจการติดเชื้อนี้ได้
ส่วนเรื่องการรักษานั้นยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าประสิทธิภาพของการรักษาแต่ละวิธีนั้นจะเหมือนหรือแตกต่างจากสายพันธุ์อื่น
...วันนี้มาฆบูชา ขอให้เราถือโอกาสใช้ในการประเมินวิถีการดำเนินชีวิตปัจจุบันของเราว่าเป็นไปด้วยความมีสติ ไม่ประมาท ดีเพียงพอแล้วหรือไม่ ระมัดระวังเรื่องกิเลสที่จะนำพาไปสู่พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
สถานการณ์ระบาดในประเทศยังรุนแรงต่อเนื่อง ควรป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงที่แออัดหรือระบายอากาศไม่ดี เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น และหากไม่สบาย ควรหยุดงานหยุดเรียน ตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ถือเป็นความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม
ที่มา : Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)