สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพของขวัญวาเลนไทน์จากจักรวาลเป็น “แหวนเพชรเม็ดโต” แห่งห้วงอวกาศ เป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง เป็นซากของดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ที่สิ้นอายุขัย
วันนี้ (14 ก.พ.) ตรงกับวันวาเลนไทน์ ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นอายแห่งความรัก มองไปทางไหนทุกที่ทุกหนทุกแห่งก็เต็มไปด้วยสีชมพู และในเทศกาลแห่งความรักธรรมเนียมสำคัญที่ขาดไม่ได้คือการมอบของขวัญพิเศษในวันวาเลนไทน์ เพื่อแทนความรักและปรารถนาดีแก่กันและกัน
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เผยภาพของขวัญวาเลนไทน์จากจักรวาล เป็นภาพของ “แหวนเพชรเม็ดโต” จากเนบิวลาดาวเคราะห์ พร้อมระบุข้อความว่า
แหวนเพชรเรียกเป็นกะรัต แต่ห้วงแห่งความรักในอวกาศเรียกเป็นปีแสง
วาเลนไทน์ปีนี้ ส่งความรักให้ลึกซึ้งถึงห้วงอวกาศกันเลยย
Q: How deep is your love?
A: It's 2,500 light years baby.
ถาม: ความรักของคุณลึกซึ้งแค่ไหน?
ตอบ: อยู่ลึกในอวกาศไป 2,500 ปีแสงจ้ะที่รัก
Abell 33 : แหวนเพชรเม็ดโตแห่งห้วงอวกาศ
Abell 33 เป็นเนบิวลาดาวเคราะห์ อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง เป็นซากของดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ที่สิ้นอายุขัย มวลสารของดาวจะกระจายตัวออกไปรอบ ๆ เกิดเป็นลักษณะคล้ายฟองแก๊สขนาดใหญ่สีฟ้า ขณะที่ดาวสว่างเด่นที่สุดในภาพนี้ คือ ดาว HD 83535 ที่อยู่ด้านหน้าเนบิวลานี้พอดี เกิดเป็นภาพแหวนเพชรเม็ดโตแห่งอวกาศอันงดงามนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ส่อง ของขวัญวาเลนไทน์แปลก ของขวัญสไตล์ลงทุน เทรนด์มาแรงแฟนชอบ
• มัดรวมจุดเช็กอินทำสวยก่อนวันวาเลนไทน์ โสดหรือมีคู่ เราก็ต้องสวย!!!
• รวมจุดวอล์คอินฉีดวัคซีน วันวาเลนไทน์ 14 ก.พ. กทม.-ตจว. เช็กเลยมีที่ไหนบ้าง
ภาพนี้ ถูกบันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope หรือ VLT ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศชิลี แสดงให้เห็นรูปร่างของแก๊สที่แพร่กระจายออกไปเป็นทรงกลมที่เกือบจะสมมาตร ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก เนื่องจากในขณะที่สสารกำลังแพร่กระจายออกไปรอบ ๆ นั้น มักจะถูกรบกวนได้ง่าย เช่น อาจถูกรบกวนจากการหมุนของดาว หรืออาจถูกรบกวนจากแรงโน้มถ่วงของดาวที่อยู่ใกล้เคียง เนบิวลาประเภทนี้ส่วนมากจึงมีรูปร่างที่บิดเบี้ยวและไม่สมมาตร
นอกจากนี้ หากสังเกตบริเวณใกล้กับกึ่งกลางฟองแก๊สสีฟ้า จะพบจุดสว่างสีขาวขนาดเล็ก นั่นคือดาวแคระขาว (White Dwarf) ที่กำลังแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตความเข้มสูง จนทำให้มวลแก๊สที่อยู่โดยรอบค่อยๆ กระจายตัวออกไปพร้อมกับเปล่งแสงสว่างออกมา
ดาวฤกษ์แต่ละดวงบนท้องฟ้ามีจุดจบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ “มวล” ของดาวดวงนั้น ในกรณีนี้เป็นดาวฤกษ์ที่มีมวลใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ มวลสารที่อยู่ช้ันนอกสุดจะกระจายตัวออกไปรอบ ๆ ทิ้งส่วนที่เคยเป็นใจกลางดาวเอาไว้ตรงกลาง นั่นคือ ดาวแคระขาว (White Dwarf) มีขนาดเล็กเพียง 0.8-2% ของขนาดดวงอาทิตย์ (เทียบได้กับขนาดของโลก) [2] และมีอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 20,000 องศาเซลเซียส
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง :
[1] https://www.eso.org/public/usa/news/eso1412/#1
[2] https://ui.adsabs.harvard.edu/.../1979ApJ...228.../abstract