svasdssvasds

เปิดไอเดียสุดเจ๋งเยาวชนสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาข่าวลวง

เปิดไอเดียสุดเจ๋งเยาวชนสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาข่าวลวง

เยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมกิจกรรมการแข่งขันระดมสมอง “หักล้างมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” “FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic” เวทีประชันไอเดีย สร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาข่าวลวง

กิจกรรมการแข่งขันระดมสมอง “หักล้างมูลเท็จ แสวงหาความจริงร่วม” “FACTkathon : Fact-Collab to Debunk Dis-infodemic” ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์  ร่วมกับสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)  และเป็นความร่วมมือกับสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ มูลนิธิสภาการหนังสือพิมพ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (Fnf Thailand) สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ChangeFusion Centre for Humanitarian Dialogue (HD) และ ภาคีโคแฟค (ประเทศไทย)

งานนี้นอกจากจะเป็นการประชันไอเดียของคนรุ่นใหม่ระดับมหาวิทยาลัย ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมแก้ปัญหาข่าวลวงที่มากมายในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีการระดมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   รวมถึงแนวทางการหา “ความจริงร่วม” ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ นำไปสู่การอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้ที่มีความเห็นต่างได้อย่างปกติสุข 

เปิดไอเดียสุดเจ๋งเยาวชนสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาข่าวลวง

จากการแข่งขันครั้งนี้ทีมที่ได้รับรางวัลที่ 1 ได้แก่ ทีมบอท  เป็นการผสมผสานทีมจากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีไอเดียสุดเจ๋ง “Check-on” หรือ “เช็คก่อน” โดยพัฒนาเครื่องมือ Extension เมื่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอ่านข่าวในเว็บหรือเห็นภาพต่างๆ  แล้วสงสัยว่าจริงหรือไม่ ให้คลุมดำที่ข้อความ คลิกขวา จะมีปุ่ม Check หน้าต่างของ Check-On จะขึ้นมาแล้วประมวลผลความน่าเชื่อถือจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ อาทิ Cofact  ชัวร์ก่อนแชร์ ศูนย์ต่อต้านข่าวลวง

ทีม Validator ซึ่งได้รับรางวัลที่ 2  รวมทีมจากคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  เสนอแพลตฟอร์มเป็นเว็บไซต์ที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาร่วมค้นหาความจริงด้วยกัน พร้อมรับคะแนนและของรางวัล  เพื่อสร้างชุมชนในสังคมออนไลน์ ให้ผู้ใช้งานได้มีการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อข้อมูลต่างๆ จัดกิจกรรม Debate ถกประเด็นกัน เชื่อว่าความจริงต้องเกิดขึ้นได้

สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลที่ 3 คือ ทีม New Gen Next FACTkathon  เป็นการรวมตัวของนักศึกษาคณะต่างๆ จากมหาวิทยาลัยพายัพ  ออกแบบการนำข้อมูลข่าวสาร มาถ่ายทอดในรูปแบบของการ์ตูน  ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันด้วยการสร้างการ์ตูนลงแพลตฟอร์มหนังสือการ์ตูนออนไลน์ (Webtoon)  เพื่อเสริมสร้างทักษะการอ่านและได้สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวลวงไปด้วย  พร้อมมีลูกเล่นด้วยการให้ผู้อ่านมีส่วนร่วมไขปริศนา โหวตว่าจริงหรือไม่จริง โดยให้สิ่งตอบแทนเป็นเหรียญ  สำหรับใช้เปิดอ่านตอนต่อไป

เปิดไอเดียสุดเจ๋งเยาวชนสร้างนวัตกรรมแก้ปัญหาข่าวลวง

นอกจากเสนอแนวคิดนวัตกรรมแล้ว   ได้มีการจัดการประชุมเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและข้อเสนอที่จะแก้ปัญหาข่าวลวงอย่างยั่งยืน  ซึ่งเห็นตรงกันว่าต้องผลักดันให้เกิดนโยบายที่แก้ปัญหาข่าวลวงที่เกลื่อนโลกออนไลน์ร่วมกันด้วย ดังนี้

1)  ทวงถามความรับผิดชอบกับผู้ผลิตและส่งต่อข่าวลวง

2) ให้ความสำคัญกับทักษะ “รู้เท่าทันสื่อ”

3) ลดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล

4) สนับสนุนบทบาทขององค์กรที่ทำงานต่อต้านข่าวลวงที่มีอยู่แล้ว ให้สามารถนำข้อมูลไปถึงผู้คนได้ง่าย

5) ขยายแนวร่วมตรวจสอบข่าวลวงสู่ระดับท้องถิ่น

6) สร้างวัฒนธรรม “ตั้งคำถาม” และ “ยอมรับความเปลี่ยนแปลง”

7) เปิดพื้นที่ให้ “ผู้เห็นต่าง” ได้พูดคุยกันอย่างเต็มที่เพื่อสร้างความเข้าใจและหาจุดร่วมของแต่ละฝ่าย