svasdssvasds

สรุปประเด็น รู้ทันข่าวลวง ท่ามกลางวิกฤตโลก-ไทย ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก

สรุปประเด็น รู้ทันข่าวลวง ท่ามกลางวิกฤตโลก-ไทย ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก

สรุปประเด็นเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่อง Fake News โดย 3 วิทยากร จากงานสัมมนาไฮบริดเนื่องใน วันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-Checking Day 2021) ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 2 เมษายน 2564 ณ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพฯ

_____________________________________

ข่าวลวง หรือ Fake News ที่แชร์ต่อๆ กันไป ทั้งด้วยความไม่รู้ ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม สามารถสร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินได้เกินกว่าที่ใครๆ จะคาดคิด

ประเด็นนี้เกิดขึ้นรอบโลก หลายประเทศให้ความสำคัญจนมีการจัดตั้ง เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (IFCN : International Fact-Checking Network) ขึ้น และเครือข่ายนี้ได้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็น วันตรวจสอบข่าวลวงโลก (International Fact-Checking Day) โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2016 เพื่อให้ชาวโลกตื่นตัว ตระหนักถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลหรือข่าวสารอย่างถูกต้อง การตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ว่าจริงหรือเท็จ เชื่อถือได้หรือไม่ ควรแชร์ต่อไหม แชร์แล้วจะมีหรือไม่มีปัญหาตามมา ฯลฯ 

สรุปภาพรวมให้ก่อน

เห็นได้ชัดว่าช่วงที่ COVID-19 ระบาดหนัก มีสารพัดข่าวลวงมาทำให้คนเข้าใจผิด ปฏิบัติตามแบบผิดๆ ทำให้สังคมหวั่นวิตก เครียด ไปจนถึงเพิ่มความเกลียดชังและความรุนแรงในด้านต่างๆ 

ประเทศไทยให้ความสำคัญของปัญหาการเผยแพร่ข่าวลวงและมีหลายภาคส่วนจัดตั้งองค์กรหรือสร้างเครื่องมือขึ้นมาช่วยตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง เช่น โคแฟค (Cofact), ชัวร์ก่อนแชร์ นำมาสู่การรวมตัวกันในงานสัมมนาไฮบริดเนื่องใน 'วันตรวจสอบข่าวลวงโลก' (International Fact-Checking Day 2021) 'ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน' ซึ่งเป็นเวทีประกาศเจตนารมณ์ในการทำงานเพื่อให้ผู้คนในสังคมตื่นตัว รู้เท่าทันและรับมือโรคระบาดด้านข้อมูลข่าวสารได้

งานนี้องค์กรที่เป็นหัวหอกคือ โคแฟค ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสาร (IFCN) ที่มีสมาชิกเป็นองค์กรตรวจสอบข้อมูลข่าวสารครอบคลุมในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเน้นที่ 'ข้อมูลด้านสุขภาวะ' 

ส่วนเครือข่ายภาคี 39 องค์กรนั้น มีทั้งที่เป็นสถาบันการศึกษา องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์กรสื่อมวลชน ที่ร่วมประกาศเจตนารมณ์ ต้านข่าวลวง ผ่านการจัดกิจกรรมทั้งในเชิงวิชาการ กิจกรรมสัมมนากับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อส่งต่อความรู้ ทักษะ และเครื่องมือให้แก่พลเมืองยุคดิจิทัล ในระหว่างวันที่ 2 เมษายน 2564 ถึง 2 เมษายน 2565

"เรามุ่งหวังว่าผู้คนในสังคมจะให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงและการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้มากขึ้นในยุคดิจิทัลที่ข่าวลือข่าวลวงเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วและไม่มีจุดจบสิ้น" สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล ผู้อำนวยการองค์กร Phandeeyar กล่าวภายในงาน

สรุปประเด็น รู้ทันข่าวลวง ท่ามกลางวิกฤตโลก-ไทย ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก สรุปประเด็นแรก : การตรวจสอบข่าวลวงในภาวะวิกฤตรอบโลก โดย Baybars Orsek ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรตรวจสอบข่าวสากล (IFCN)

เครื่องมือช่วยตรวจสอบข่าวหรือ Fact Checking นั้นจำเป็นมาก เพราะเมื่อข้อมูลเท็จเข้าสู่โลกออนไลน์ การแชร์ต่อเป็นวงกว้างยิ่งจะทำให้คนเข้าใจผิด แต่ถ้าจะให้มีคนตรวจสอบข้อเท็จจริง สแกนทุกข่าวที่ปรากฏก็เกินกำลัง ดังนั้น จึงต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วยตรวจสอบ แต่หากมีเครื่องมือที่ไม่มีความสามารถมากพอ การตอบสนองต่อข้อมูลไม่เพียงพอ ข่าวหรือข้อมูลผิดๆ ก็จะส่งผลกระทบต่อสังคม เช่น 5G เร่งการระบาด 'ไวรัสโคโรน่า', กินยาลูกกลอนแล้วจะหายจาก COVID-19

ต้นปี 2020 โมเดลตรวจสอบข่าว/ข้อมูล Fact Checking ในสหรัฐอเมริกายังไม่แพร่หลาย ความถูกต้องแม่นยำก็ยังไม่มาก แต่เมื่อมีข้อมูล หรือ Data จำนวนมากเข้าสู่ระบบเพราะผู้คนอยากรู้เกี่ยวกับ COVID-19 การตรวจสอบความถูกต้องจึงได้รับการพัฒนาและใช้งานในระดับภูมิภาคมากขึ้น ส่งผลให้ได้ฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ได้รับฟีดแบ็กในทางที่ดี ผู้คนให้ความสนใจและตื่นตัว

ความท้าทายสำคัญของการตรวจสอบข้อมูลคือ การหาต้นตอของแหล่งข้อมูลเท็จ ซึ่งยากกว่าการหาต้นทางของโรคระบาด เพราะข้อมูลเท็จสามารถปรากฏในภาษาอื่นๆ ได้ ดังนั้น เพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ คนที่ต้องทำงานด้านการตรวจสอบข้อมูลต้องร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน

Fact Checking เป็นเรื่องสำคัญ IFCN จึงดำเนินการกับแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย เช่น Facebook, Youtube  นอกจากนี้ยังดึงหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยตรวจสอบว่าข้อมูลใดถูกต้อง ข้อมูลใดเป็นเท็จ ส่งผลให้มี Data เข้ามาในปริมาณมาก

ยกตัวอย่าง ตุรกี บ้านเกิดของ Baybars Orsek ที่มีการเผยแพร่ข่าวลวงจำนวนมาก ภาครัฐของตุรกีจึงจัดตั้งทีมทำงาน Fact Checking ขึ้น ต่อมาก็ดำเนินงานแข่งกับองค์กรเอกชน เพราะต่างฝ่ายต่างก็รีบตรวจสอบ เพื่อให้คนรู้ว่าเรื่องไหนจริงหรือเท็จได้เร็วขึ้น

หลังจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมจะมีส่วนร่วมมากขึ้นในการผลักดันข้อมูลที่ถูกต้องในโซเชียล มีเดีย และจะต้องไม่สร้างความเสียหายให้แก่บุคคลทั่วไป

คำว่า Fact Checker หรือ ผู้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล มีมานานแล้ว และไม่ว่าจะเป็นวัยเรียน วัยทำงาน หรือสูงวัย ทุกคนก็สามารถเป็น Fact Checker ได้

วันตรวจสอบข่าวลวงโลก

ประเด็นที่สอง : บางส่วนจากงานเสวนา ‘ความท้าทายในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกัน’

ผู้ร่วมเสวนา มีดังนี้
- สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งภาคีโคแฟค COFACT Thailand
- พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย บมจ. อสมท.
- ณัฐกร ปลอดดี บรรณาธิการ Fact-Check สำนักข่าวเอเอฟพี ประจำประเทศไทย
- ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) SpringNews/The Nation Thailand
- สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย

สรุปประเด็น รู้ทันข่าวลวง ท่ามกลางวิกฤตโลก-ไทย ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก สรุปพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ผ่านสายตา ‘ระวี ตะวันธรงค์’ 

คนไทยเป็นกลุ่มที่ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย อย่างหนักหน่วง (Heavy User) ซึ่งการติดตามนั้นไม่ได้อิงกับสื่อ (Media) แต่อิงกับแพลตฟอร์ม นั่นคือ LINE, Facebook, Youtube โดยในปีที่ผ่านมา Youtube ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง 

จากประสบการณ์ที่เคยรวบรวมสถิติประยุกต์ด้านประชากรศาสตร์ คนไทยจำนวน 67 ล้านคน มีผู้ใช้งานโลกออนไลน์ อยู่ใน 5 จังหวัดหลัก 50% ของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ ​เชียงใหม่ พัทยา นครราชสีมา และภูเก็ต นั่นหมายความว่า คนที่อยู่จังหวัดอื่นอาจไม่เห็นข้อมูลหรือไม่ได้รับข้อมูลที่ผ่านการตรวจสอบแบบ Fact Checking 

จำนวนผู้ใช้งาน Twitter ในไทยมีอยู่ 11 ล้านคน เป็นผู้ใช้งานใน กทม. ถึง 80% อีก 20% กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ

LINE เข้าถึงคนมากที่สุดเพราะการสื่อสารอยู่บนพื้นฐานของ คนรู้จัก จึงเชื่อข้อมูลที่ส่งมาและแชร์ต่ออย่างง่ายดาย โดยเฉพาะคนที่มีอายุ 50+ ปีขึ้นไป

สรุปประเด็น รู้ทันข่าวลวง ท่ามกลางวิกฤตโลก-ไทย ในวันตรวจสอบข่าวลวงโลก แนวทางที่ควรรู้และปฏิบัติ โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย บมจ. อสมท.

เรื่องไหนที่ต้องเช็ค กรองแล้วเลือกเรื่อง ตรวจสอบ เสร็จแล้วส่งไปถึงกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีใดหรือช่องทางไหน ควรเริ่มจาก Collect - Choose - Check - Create

 มองว่าการทำ Fact Checking มี 3 ความท้าทาย
- Speed & Time ความเร็วและเวลาในการแพร่กระจายข่าว
- Sources คนที่ส่งต่อข้อมูลได้
- Receiver ผู้รับข้อมูล ซึ่งอาจมีความคิดหรือความจริงของตัวเอง หากถูกปลูกฝังความคิด อาจนำไปสู่การใช้อาวุธโจมตี ขยายความเกลียดชังให้รุนแรงออกไป

FOMO ทำให้คนอยากรู้ตลอดเวลา เป็นหนึ่งในแรงกดดันของ Fact Checker เพราะคนต้องการคำตอบ แต่ Fact Checker ยังไม่สามารถนำเสนอได้ เพราะบางอย่างเป็นกระแสในโซเชียล มีเดีย แพร่กระจายเร็วกว่าการใช้เวลาตรวจสอบ 

เราต้องสร้าง สื่อหลากหลายประเภทแล้วสื่อสารออกไป เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันข่าวลวงมากขึ้น เช่น ขยายจากข่าวในทีวีไปยังสื่อต่างๆ ตรงนี้จะช่วยลดความท้าทายของการตรวจสอบข้อมูลได้ 

การจัดงานครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีองค์กรภาคีถึง 39 องค์กร มาร่วมจัดกิจกรรมเพื่อให้พลเมืองยุคดิจิทัลรู้เท่าทัน รับข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ ส่งต่อข้อมูลได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ทั้งยังลดหรือปิดโอกาสที่ข่าวลวงจะแพร่กระจายออกไป 

related