อธิบดีกรมอนามัย ออกประกาศเตือน เทรนด์ TikTok หมึกช็อต เป็นเรื่องที่ต้องระวัง หากยังกินแบบดิบๆ อาจได้รับ “แบคทีเรีย-พยาธิ” ใช้วิธีกินแบปรุงสุกด้วยความร้อนปลอดภัยหว่า แถมยังลดการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ
หมึกช็อต เมนูดราม่าที่ตอนนี้แพทย์หลายคนออกมาเตือนถึงการกระทำดังกล่าว ที่รสชาติอร่อยแต่แลกมาด้วยแบคทีเรียและพยาธิ เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก กรมอนามัยเป็นที่เรียบร้อย โดยได้ระบุว่า “การรับประทานหมึกช็อตแบบดิบๆ ต้องระวัง“แบคทีเรีย-พยาธิ” ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดขอโรคที่มีอาหารและนำเป็นสื่อ พร้อมทั้งแนะนำว่าการใช้ความร้อนให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง เป็นเรื่องดีกว่า”
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังจากมีกระแสในการกิน “ปลาหมึกชอต” คือการนำปลาหมึกตัวเล็ก สด ๆ เอาหัวจุ่มลงไปในแก้วที่บรรจุน้ำจิ้ม เพื่อให้หมึกดูดเอาน้ำจิ้มซีฟู้ดเข้าตัว จากนั้นกินปลาหมึกโดยกัดส่วนหัว แล้วค่อยกัดหรือหั่นส่วนลำตัวกินต่อ หรือหากปลาหมึกตัวเล็กพอ ก็อาจจะเอาเข้าปากกินทั้งตัวนั้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งพฤติกรรมการกินดังกล่าวอาจจะเสี่ยงได้รับ เชื้ออหิวาต์เทียม หรือ Vibrio parahaemolyticus ที่เป็นเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ตามโคลนตมในทะเล หรือตามชายฝั่งต่าง ๆ เมื่อกินสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป ก็จะทำให้เกิดอาการปวดท้อง, ท้องเสีย, มีอาการอาหารเป็นพิษ และหากรุนแรงมากก็อาจส่งผลให้เกิดอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
นอกจากเชื้อแบคทีเรียแล้ว ปลาหมึกหรือสัตว์ทะเลอื่น ๆ เช่น กุ้ง หรือหอย ก็อาจจะมีพยาธิอาศัยอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพยาธิตัวกลม ในกลุ่มพยาธิอะนิซาคิส (Anisakis spp.) พยาธิตัวตืดในกลุ่มพยาธิตืดปลา (Diphyllobothrium) เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่น และเขตร้อน ซึ่งในประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อน ของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับพยาธิ มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด คล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรือถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ทำให้ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด
รวมถึงอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายอื่น ๆ เช่น เข้าไปอาศัยตามกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดผื่นคัน ปวดบวมบริเวณผิวหนัง หรือเข้าไปชอนไชทำลายอวัยวะภายใน ทำให้เลือดออกในช่องท้อง หรือเนื้อเยื่อ หรือในกรณีที่รุนแรงกว่านั้น คือ การไชเข้าสมองก่อให้เกิดอาการเลือดออกในสมอง สมองอักเสบ และส่งผลเสียกับร่างกายในระยะยาวได้
“ทั้งนี้ การป้องกันพยาธิหรือไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกาย หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หากปรุงประกอบอาหารเอง ก่อนนำวัตถุดิบมาปรุง ต้องล้างน้ำให้สะอาดเพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค สารเคมีตกค้าง และต้องปรุงให้สุกโดยใช้ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส นาน 2 นาที เพื่อให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง
รวมทั้งควรเลือกซื้ออาหารจากร้านอาหาร ควรสังเกตป้ายสัญลักษณ์ “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย” หรือ Clean Food Good Taste ที่กรมอนามัยรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องความสะอาดปลอดภัยของอาหารให้กับผู้บริโภคที่สำคัญยึดหลักกินร้อน ใช้ช้อนส่วนตัว ล้างมือ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ที่มาภาพ เพจชอบจัง บางแสน