เช็กสัญญาณเตือน โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น จากกรณีของ "หนึ่ง มาฬิศร์" อดีตพระเอกละครพื้นบ้านที่เคยเจอสัญญาณเตือนรุนแรง ถึงขั้นวูบกลางกองถ่าย
เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยอาจมองข้ามและไม่ค่อยพูดถึงปัญหาการนอนกรน เพียงเพราะมองว่าถ้าพูดถึงแล้ว จะเป็นเรื่องน่าอาย แต่เอาจริงๆ แล้วภาวะการนอนกรนไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอย่างที่คิด เพราะสิ่งเหล่านี้อาจส่งสัญญาณเตือนว่าร่างกายของเรากำลังเผชิญกับโรคภัยอยู่
เหมือนอย่างเช่น "หนึ่ง มาฬิศร์" อดีตพระเอกละครพื้นบ้านที่หลายคนคุ้นหน้ากันดี เขาก็เป็นอีกคนที่มีภาวะนอนกรนมานานหลายสิบปี แต่มองข้ามปัญหานี้มาตลอด เพราะคิดว่าใครๆก็กรน จนกระทั่งวันหนึ่งร่างกายเจอสัญญาณเตือน เคยวูบกลางกองถ่าย
จึงตัดสินใจเดินทางไปพบคุณหมอ ทำการ Sleep Test หรือการตรวจหาความปกติของการนอนหลับ จนพบว่าป่วยเป็น "โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น" โดย หนึ่ง มาฬิศร์ ได้โพสต์ภาพขณะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล มีสายระโยงระยางเต็มตัว ก่อนจะแชร์ประสบการณ์ที่พบเจอ เพื่อเป็นประโยชน์กับใครๆ หลายคนที่มีภาวะเดียวกับตน ดังนี้
"เมื่อ 30 ปีก่อน ในยุคที่งานก็มีทำ เงินก็หาง่าย ร่างกายก็ดี๊ดี เรื่องสุขภาพดูเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องใส่ใจเลย อยากใช้ร่างกายหักโหมขนาดไหน ไม่เคยมีคำว่ายั้ง พอ 30 ปีผ่านไป มาถึงยุคงานก็อยากทำ เงินก็อยากได้ ร่างกายก็ต้องดูแล ตอนหลังเริ่มได้ยินเสียงตัวเองกรนก่อนจะสะดุ้งตื่น"
"เพื่อนฝูงที่กรน แทบทุกคนที่ไปพบหมอ จะกลับมาด้วยโรคหยุดหายใจขณะหลับกันถ้วนหน้า จนตนเองได้รับสัญญาณแปลกๆ มาทั้งในรูปแบบของความดัน ความจำ การเต้นของหัวใจ รวมไปถึงการดึงปลั๊กออกจากตัวเราแบบ shutdown ไปดื้อๆ ชนิดที่นั่งอยู่ในกองถ่ายแล้วก็ป๊อกหลับไปกลางอากาศซะงั้น"
"เจอเสียงเตือนหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้ จึงถึงเวลาไปหาหมอซะที ซึ่งหลังจากทำ Sleep test แล้วสรุปว่าเป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA) ตามคาดจริงๆ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถอดบทเรียน หนึ่ง มาฬิศร์ อดีตพระเอกละครพื้นบ้าน กลับใจเพราะคุกดึงสติ
ไม่สิ้นหวังกับคำบูลลี่! แอนชิลี กับแนวคิดสร้างพลังบวกฟื้นฟูจิตใจ
หลังจากอดีตพระเอกหนุ่มออกมาแชร์ประสบการณ์ที่พบเจอแล้วนั้น ทำให้หลายคนเริ่มตื่นตัว ไม่มองข้ามปัญหาการนอนกรนอีก และเพื่อกระตุ้นความเข้าใจให้มากขึ้น ทาง "สปริงบันเทิง" จะพาไปรู้จักกับโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ดังต่อไปนี้
โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) คือ?
ในขณะที่เรานอนหลับ กล้ามเนื้อที่คอยทำหน้าที่ตึงตัวและช่วยขยายทางเดินหายใจในช่องคอจะหย่อนตัวลง ซึ่งภาวะนี้เองทำให้ทางเดินหายใจแคบลง แต่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในเด็กหรือคนทั่วไป แต่ในผู้ป่วย OSA ทางเดินหายใจจะตีบแคบลงมาก ทำให้การหายใจลำบากขึ้น สมองจะรับรู้ภาวะนี้และสั่งการให้เพิ่มแรงในการหายใจ
สิ่งนี้จะกระตุ้นให้สมองตื่น เพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อช่องคอกลับมาตึงตัวและเปิดทางเดินหายใจอีกครั้ง ซึ่งวงจรเหล่านี้จะเกิดขึ้นซ้ำๆ นับสิบหรือถึงร้อยครั้งในแต่ละคืน ทำให้รบกวนการนอนหลับและส่งผลให้สมองไม่ได้รับออกซิเจนเพียงพอขณะนอนหลับ
โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เราสามารถสังเกตตัวเองได้ดังนี้.....
1. เสียงกรนที่ดัง แม้กระทั่งปิดประตูยังได้ยิน
2. ลักษณะของการกรนแล้วหยุดเป็นพักๆ ตามด้วยเหมือนอาการสำลักขณะนอนหลับ หรือมีผู้สังเกตเห็นว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
3. ภาวะง่วงนอนผิดปกติ เช่น ขณะทำงานหรือหลับในขณะขับรถ
4. ไม่มีสมาธิ ขี้ลืม
5. ปวดศีรษะหลังตื่นนอนตอนเช้า
6. ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
7. ความรู้สึกทางเพศลดลง
ที่มา : ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์