ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลประเด็นเรื่อง การสอดไม้ Swab ลึกถึงเพดานจมูก ทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นเสียหาย และส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีที่มีการโพสต์ให้ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ระบุว่า การสอดไม้ Swab เข้าไปกว้านลึกถึงเพดานจมูกสามารถสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อพังผืดที่ห่อหุ้ม Olfactory Nerve ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและอายุขัยของมนุษย์ เนื่องจาก olfactory nerve เป็นปราการด่านหนึ่งในสองของกะโหลกศีรษะซึ่งเชื่อมระหว่างโพรงจมูกกับสมอง ที่ไวรัสและแบคทีเรียสามารถเดินทางข้าม blood-brain barrier เข้าสู่สมองได้ นอกจากนี้ olfactory nerve ยังเป็นเซลล์ชนิดเดียวในกะโหลกศีรษะที่มี stem cells เรียกว่า olfactory ensheathing cells ที่ล้อมรอบเซลล์รับกลิ่น olfactory sensory axons ส่วนที่ยื่นออกมาจากเซลล์ประสาท neuron ทำหน้าที่ส่งผ่านกระแสประสาทจากเซลล์ร่างกาย พวกมันทำหน้าที่ปกป้อง olfactory nerve และช่วยการสร้างเซลล์ใหม่เมื่อเกิดความบาดเจ็บเสียหาย (สเต็มเซลล์ชนิดนี้มีความพิเศษมากจนถูกนำไปใช้ในการซ่อมแซมไขสันหลังบาดเจ็บและรักษาโรคทางสมองหลายชนิดในการแพทย์ปัจจุบันอย่างประสบความสำเร็จ)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ข่าวปลอม! Swab ลึกถึงเพดานจมูก ทำให้เนื้อเยื่อพังผืดเสียหาย
• "หมอแล็บ" ยืนยันฉีดวัคซีนได้พร้อมกับการแยงจมูกได้ ไม่มีผลต่อการตรวจโควิด
• อุทาหรณ์! หมอโพสต์ เจอเคสคนไข้ใช้ไม้สวอปตรวจหาเชื้อโควิด "หักคารูจมูก"
ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวและชี้แจงว่า การสอดไม้ Swab เข้าไปในจมูกมีโอกาสขึ้นไปที่ตำแหน่งของเส้นประสาทรับกลิ่นได้จริง แต่ไม่สร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทมากอย่างที่กังวล
ปัจจุบันก็ยังไม่พบหลักฐานว่าการ Swab ทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นเสียหายจนสูญเสียการรับกลิ่น อย่างไรก็ตามการสวอปควรทำให้ถูกวิธีโดยการแหย่เข้าไปตามแนวของพื้นจมูกเพื่อให้เข้าไปยังบริเวณโพรงหลังจมูกซึ่งมีโอกาสเจอเชื้อโรคได้มาก ซึ่งจะไม่โดนตำแหน่งของเส้นประสาทนี้อยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังที่สำคัญคือในกรณีที่คนไข้เคยได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับฐานสมอง หรือเคยผ่าตัดซ่อมฐานสมองมาก่อน อาจจะไม่มีกระดูกคอยป้องกันเหมือนกับคนที่ยังไม่เคยผ่าตัด ดังนั้นควรให้แพทย์หูคอจมูกหรือแพทย์ที่ชำนาญเป็นผู้ทำการ Swab เอง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ สามารถติดตามได้ที่ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การสอดไม้เข้าไปในจมูกมีโอกาสขึ้นไปที่ตำแหน่งของเส้นประสาทรับกลิ่นได้จริง แต่ไม่สร้างความเสียหายต่อเส้นประสาทมากอย่างที่กังวล ปัจจุบันก็ยังไม่พบหลักฐานว่าการสวอปทำให้เส้นประสาทรับกลิ่นเสียหายจนสูญเสียการรับกลิ่น