svasdssvasds

อินโดนีเซีย ย้ายเมืองหลวงใหม่ จาก "จาการ์ตา" สู่ "นูซานทารา"

อินโดนีเซีย ย้ายเมืองหลวงใหม่ จาก "จาการ์ตา" สู่ "นูซานทารา"

สภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย เคาะ ย้ายเมืองหลวงใหม่ เปลี่ยนจาก "จาการ์ตา" เหตุจาการ์ตาไม่ยั่งยืนจ่อจมทะเลในเร็ววัน สู่ "นูซานทารา" ป่าทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว

อินโดนีเซียอนุมัติย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตา (Jakarta) ไปยังกาลิมันตัน (Kalimantan) พร้อมตั้งชื่อเมืองหลวงใหม่ว่า "นูซานทารา" (Nusantara) ซึ่งมีความหมายว่า "หมู่เกาะ" ในภาษาชาวอินโดนีเซีย

กาลิมันตัน เป็นพื้นที่ปกคลุมไปด้วยป่าทางตะวันออกของเกาะบอร์เนียว เกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลก มีประเทศมาเลเซียและบรูไนที่ต่างถือครองพื้นที่ทางตอนเหนือของเกาะบางส่วน

เหตุจำเป็นที่ต้องย้ายเมืองหลวงจากจาการ์ตา เพราะความไม่ยั่งยืนของเมืองหลวงที่แออัดแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่หนองใกล้กับทะเล และมีแนวโน้มเป็นเมืองที่จะจมลงสู่ใต้ท้องทะเลเร็วที่สุดแห่งหนึ่งบนโลกนี้ ตามการรายงานของ World Economic Forum จากการดูดน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไป

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :

"ป่วน มหาราณี" (Puan Maharani) ประธานสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย เผยว่า ได้ผ่านร่างกฎหมายอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย โดยชนะไปถึง 8 ใน 9 เสียง

ซูฮาร์โซ โมโนอาร์ฟา (Suharso Monoarfa) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและพัฒนาแห่งชาติ กล่าวว่า "การย้ายเมืองหลวงไปยังกาลิมันตันขึ้นอยู่กับการพิจารณาหลายประการ ความได้เปรียบของภูมิภาค และสวัสดิการต่างๆ รวมถึงการเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ"

ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (Joko Widodo) ของอินโดนีเซีย เคยประกาศว่าจะมีการย้ายเมืองหลวงครั้งแรกในปี 2019 โดยอ้างถึงความกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของจาการ์ตา

นอกจากนี้องค์การสหประชาชาติยังระบุว่า จาการ์ตาเป็นเมืองที่มีประชากรมากเกินไปที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีอยู่อาศัยประมาณ 30 ล้านคนในเขตเมือง

ข้อมูลจากกระทรวงการวางแผนและพัฒนาแห่งชาติ ชี้ว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาใหม่ โดยเมืองหลวงใหม่จะมีเนื้อที่ประมาณ 2,561 ตร.กม. ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งหมดแปลงมาจากพื้นที่ป่า

"ศรี มุลยานี" (Sri Mulyani) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซีย แถลงข่าวว่า แผนการพัฒนาเมืองหลวงใหม่จะมีทั้งหมดห้าขั้นตอนด้วยกัน โดยจะเริ่มพัฒนาขั้นแรกตั้งแต่ในปีนี้ไปจนถึงปี 2024 และยาวต่อเนื่องไปถึง 2045 จากการประเมินแผนพัฒนาเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซียคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 466 ล้านล้านรูเปียห์ (1 ล้านล้านบาท)

related