กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สั่งตรึงราคาไก่สดหน้าฟาร์ม-ไก่สด เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยเหลือประชาชน พร้อมเรียกผู้เลี้ยงไก่ไข่ หารือภายหลังมีการประกาศขึ้นราคา
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข่ไก่และไก่เนื้อ ว่า เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา กรมได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่วมกัน กำหนดราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตหน้าฟาร์ม และราคาจำหน่ายปลีกชิ้นส่วนไก่สด เป็นระยะเวลา 6 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2565
ทั้งนี้สำหรับราคาจำหน่ายไก่สดมีชีวิต จำหน่ายในราคา 33.50 บาทต่อกิโลกรัม ไก่สด รวมเครื่องในและไม่รวมเครื่องใน จำหน่าย 60-65 บาทต่อกิโลกรัม น่องติดสะโพก น่อง สะโพก จำหน่าย 60-65 บาทต่อกิโลกรัม และเนื้ออก จำหน่าย 65-70 บาทต่อกิโลกรัม
อย่างไรก็ดี เป็นการแก้ไขและช่วยเหลือผู้บริโภคในระยะสั้น ส่วนระยะยาว กรมจะหารือกับกรมปศุสัตว์และผู้เลี้ยงในการเร่งเพิ่มการผลิตโดยเร่งด่วน โดยการเลี้ยงไก่นั้นระยะเวลา 45 วัน พร้อมทั้งหามาตรการช่วยเหลือผู้เลี้ยงเพื่อแบ่งเบาภาระให้ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• อ๋อม สกาวใจ ถามแทนชาวบ้าน ปมหมูแพง-ไข่แพง ลั่นค่าครองชีพสูง ค่าแรงเท่าเดิม
• ช่วงนี้เนื้อหมูแพง แล้วมีสินค้าอะไร ในท้องตลาดแพงอีกไหม ?
• พรุ่งนี้! ไข่ไก่ขึ้นราคา 20 สตางค์/ฟอง เป็น 6 บาท/แผง
ส่วนสถานการณ์ราคาไข่ไก่ ที่มีการประกาศขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้นั้น วันนี้ 11 มกราคม 2565 กรมได้เชิญหน่วยงาน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือ ถึงสถานการณ์และเหตุจำเป็นในการปรับขึ้นราคาไก่ไข่ มีความเหมาะสม สมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งก็ต้องหารือพิจารณาอย่างรอบควบตามปริมาณและความต้องการที่เกิดขึ้นจริง ก่อนที่จะพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือผู้บริโภค ผู้เลี้ยง ต่อไปด้วย
ทั้งนี้จากการติดตามปริมาณไข่ไก่ ไม่ได้มีภาวะขาดตลาด แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สมเหตุสมผลในการปรับราคาที่เหมาะสม แต่ราคาที่ปรับขึ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นเกินสมควรจากที่กรมติดตรามดูแล แต่ทั้งนี้ก็ต้องเห็นใจผู้เลี้ยง อาจจะเกิดความวิตกกังวลจึงจำเป็นต้องของให้ผู้เลี้ยง เพิ่มปริมาณการเลี้ยง
อย่างไรก็ดี กรมยังจะเชิญกลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้ามาหารือ ซึ่งก็จะเชิญมาเร็วนี้ เพราะต้องยอมรับว่าอาหารสัตว์เป็นต้นทุนสำคัญในการเลี้ยง แต่เบื้องต้นก็ได้หารือ กับผู้ผลิตอาหารสัตว์แล้ว พร้อมให้ความร่วมมือในการเชื่อมโยงอาหารสัตว์ให้กับผู้เลี้ยงรายย่อย หมู ไก่ ไก่ไข่ เพื่อเป็นการช่วยเหลือและลดต้นทุนบางส่วนให้ผู้เลี้ยงรายย่อยได้ และปัญหาไก่ ไข่ไก่ กรมมองว่าสามารถแก้ไขได้เร็ว
ส่วนการติดตามสถานการณ์ราคาหมู เนื่องจากที่ผ่านมาการบริโภคหมูลดลง นักท่องเที่ยวหาย จากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณหมูเลี้ยงหายไปประมาณ 30% และผู้เลี้ยงเองก็ลดลง จึงส่งผลกระทบต่อปริมาณและราคาหมูปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กรมฯได้ขยาย “โครงการพาณิชย์ลดราคาหมู” ออกไปถึงสิ้นเดือนมกราคม 2565 นี้ จากเดิมถึงวันที่ 15 มกราคม 2565 นี้
“ในกรุงเทพฯ จะมีจุดขายหมู กก.ละ 150 บาท ทั้งหมด 116 จุด แยกเป็นรถโมบายตระเวนตามพื้นที่ต่าง ๆ 50 คัน และตั้งจุดจำหน่ายอีก 50 จุด ส่วนต่างจังหวัดมี 551 จุด รวมเป็นทั้งหมด 667 จุด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนสามารถซื้อเนื้อหมูราคาถูกกว่าท้องตลาดได้”
ส่วนการกำหนดให้ผู้เลี้ยงแจ้งปริมาณ หมูมีชีวิต การชำแหละ ก็ยังเป็นไปตาม มติที่ประชุมคณะกรรมการว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบปริมาณ ป้องกันการกักตุน เพื่อให้ปริมาณหมูออกสู่ตลาดมากที่สุด
นอกจากนี้ กรมอยู่ระหว่างพิจารณาทำเรื่องเพื่อของบประมาณกลาง ในการเพิ่มจุดจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดและสินค้าที่จำเป็น เพื่อช่วยเหลือประชาชน พร้อมทั้งจะพิจารณาเพิ่มจุจำหน่ายให้มากขึ้น หากพื้นที่ไหนไม่เหมาะสมก็จะลดจำจำหน่ายลง เพื่อให้ได้จุดที่เข้าถึงประชาชน อย่างเช่น สถานีบริการน้ำมัน ซึ่งมีกว่า 1,500 จุด หากเข้าร่วมก็จะช่วยประชาชนเข้าถึงมากขึ้น