"หมอเฉลิมชัย" ชี้ไทยติดเชื้อโควิดเพิ่ม 2.8 เท่าในช่วงเวลา 9 วัน แนะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อย ให้รักษาในโรงพยาบาลสนาม หรือแยกกักที่บ้านได้
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Chalermchai Boonyaleepun ถึงสถานการณ์โควิดระลอกที่ 4 ของประเทศไทย โดยระบุว่า
ความรู้เรื่อง COVID-19 (ตอนที่1072) 9 ม.ค. 2565
9 มกราคม 2565 ติดเชื้อเพิ่ม 8511 ราย เพิ่มขึ้น 2.8 เท่า ในช่วง 1-9 มกราคม 2565
สถานการณ์โควิดระลอกที่ 4 ของประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2,565
โดยมียอดผู้ติดเชื้อต่ำสุดของระลอกที่ 3 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 อยู่ที่ 2,305 ราย
เนื่องจากในระลอกที่ 4 นี้ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้เริ่มเข้ามาเป็นสายพันธุ์ก่อโรคร่วมกับสายพันธุ์เดลต้า และมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
จึงทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ตามสถิติตัวเลขของประเทศตะวันตกคือ เพิ่มขึ้นสองเท่าทุกสามวัน
สำหรับประเทศไทยเราวันนี้ (9 มกราคม 2565) มีผู้ติดเชื้อ 8511 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับ 1 มกราคม 2565 ติดเชื้อเพิ่ม 2.8 เท่าในช่วงเวลา 9 วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• หมอธีระวัฒน์ ชี้ตัวแปร "โอไมครอน" ระลอกนี้ แนะจับตาความรุนแรงถึงกลาง ก.พ.
• UPDATE อัตราครองเตียงโควิดล่าสุดจากอธิบดีกรมการแพทย์
• "หมอยง" ชี้ "โอไมครอน" แทนที่เดลตาแล้ว ยอดติดเชื้อต่ำกว่าความเป็นจริงมาก
โดยเป็นการเพิ่ม
• ผู้ติดเชื้อในระบบ 2.9 เท่า
• ติดจากตรวจเชิงรุก 2.1 เท่า
• ติดในสถานกักตัว 2.5 เท่า
ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นดังกล่าว มีการกระจายตัวเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาลอย่างไรบ้าง
พบว่าในช่วง 1-9 มกราคม 2565
• ผู้เข้ารับการรักษาเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า
• ในโรงพยาบาลหลักเพิ่ม 1.9 เท่า
• โรงพยาบาลสนามเพิ่ม 1.4 เท่า
• แยกกักที่บ้านเพิ่ม 2.3 เท่า
โดยตัวเลขผู้รับการรักษาในระบบสุขภาพรวมทั้งสิ้นเพิ่มขึ้น 20,929 ราย
• เป็นโรงพยาบาลหลัก 13,859 ราย
• โรงพยาบาลสนาม 6194 ราย
• แยกกักตัวที่บ้าน 1047 ราย
จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้เข้ารับการรักษาที่เพิ่มขึ้นกว่าครึ่ง เข้ามาดูแลรักษาอยู่ในโรงพยาบาลหลัก มีเพียงส่วนน้อยที่อยู่ที่โรงพยาบาลสนามและแยกกักที่บ้าน
ซึ่งน่าจะเป็นทิศทางที่จะต้องปรับกันต่อไป เนื่องจากเมื่อไวรัสโอไมครอนมีจำนวนสัดส่วนมากขึ้น ก็ควรจะมีสัดส่วนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงน้อยเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งควรดูแลรักษาในโรงพยาบาลสนามและการแยกกักที่บ้านได้
การที่มีผู้ติดเชื้ออาการน้อยเข้ามาครองเตียงในโรงพยาบาลหลักช่วงนี้ จะทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลหลักมีไม่เพียงพอที่จะรับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางถึงอาการมากในอนาคตได้