สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์ "โอไมครอน" (Omicron) ในหลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น การตรวจเชื้อด้วย ATK ถือเป็นสิ่งสำคัญ ณ เวลานี้ แต่ถ้าหากตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไร เรามีคำตอบมาให้
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์ "โอไมครอน" (Omicron) ในหลายประเทศทั่วโลกได้เริ่มทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ ที่สามารถแพร่กระจายและมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่นๆ และอาจมีผลต่อประสิทธิภาพ ในการป้องกันโรคของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ประเทศไทยเริ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านระบบคัดกรองและป้องกันโรคเป็นระยะ โดยจำนวนประชากรในประเทศที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) มีสัดส่วนที่ยังไม่มากพอจนอาจมีความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุข หากเกิดการระบาดรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว
ทั้งนี้สายพันธุ์โอไมครอน เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่นๆ อาการเบื้องต้นพบว่า ยังไม่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนๆ บางรายงานระบุว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย ไม่สูญเสียการรับกลิ่น-รส ซึ่งอาการป่วยไม่รุนแรง ความเร็วในการแพร่โรค คาดว่าจะเร็วขึ้น-เพิ่มขึ้น เนื่องจากสายพันธุ์ โอไมครอน นับเป็นสายพันธุ์ที่มาแทนที่สายพันธุ์เดลต้า ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ศบค. แถลงรายละเอียดสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศ โดยเปิดเปยตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน นับเป็นยอดสะสมประจำวันที่ 5 ม.ค. 2565 โดยมีผู้ติดเชื้อสะสมทั้งหมด 2,338 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• หมอแล็บแพนด้า เตือนอย่าตระหนก ATK น้ำประปา 2 ขีด เพราะใช้ผิดประเภท
• โควิดโอไมครอนในไทยตอนนี้ความเสี่ยงสูง แนะทำฟัน-ตัดผม-ซื้อATKติดบ้านไว้
• อย. ชี้แจง ชุดตรวจโควิด ATK แบบอม ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนเพิ่ม!
ก่อนหน้านี้ไทยเคยใช้ RT-PCR เพราะผลตรวจเที่ยงตรงสูง ผู้ติดเชื้อยังไม่มากและห้องแล็บพอ ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน มีผู้ติดเชื้อสูงการทำ RT-PCR คนไข้ต้องรอนานและทำให้การป้องกันโรคล่าช้า จึงเกิดแผนนำ Antigen test kit (ATK) มาใช้ แบบทั้งแบบ Professional use ใช้โดยแพทย์ และ Self-use ประชาชนตรวจเอง
ทั้งนี้ ATK จะมีผลบวกปลอม ประมาณ 3-5% แม้ว่าข้อดีของ ATK คือ การทราบผลตรวจเร็ว ใน 30 นาที ประชาชนสามารถตรวจได้เอง แต่มักจะมีผลบวกลวง 3-5% ดังนั้นเพื่อไม่ให้คนไม่ป่วยจริง ต้องไปอยู่รวมกับผู้ป่วยจริง จนทำให้กลายเป็นติดเชื้อไปด้วย แนวปฏิบัติก่อนส่งผู้ป่วยเข้าระบบ (รพ.สนาม หรือ Comunity Isolation) จึงจำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ แต่หากไม่มีอาการ และทำ Home Isolation ที่บ้านได้ ไม่จำเป็นต้องตรวจซ้ำ เพราะกักตัวที่บ้านไม่ได้สัมผัสกับคนอื่นอยู่แล้ว
ชุดตรวจโควิด-19 แบบเร่งด่วน หรือชุดตรวจเร็ว Test Kit ที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (อย.) มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทคือ
• Antigen Test Kit เป็นเก็บตัวอย่างด้วยการ Swab เป็นการตรวจองค์ประกอบไวรัส โดยการเก็บตัวอย่างจากทางจมูก ลึกถึงคอหรือเก็บจากลำคอ
• Antibody Test เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อ โดยการเจาะเลือด ซึ่งจะสามารถตรวจภูมิคุ้มกันเชื้อในวันที่ 10 เป็นต้นไป จนกระทั่งหายป่วย
แต่การตรวจ Antibody Test จะยังไม่นำมาใช้ เพราะปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก ภูมิคุ้มกันอาจเกิดจากการติดเชื้อหรือวัคซีนก็ได้ ซึ่งไม่สามารถแยกได้
ใครที่ควรใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit
• ผู้ที่สัมผัส หรือใกล้ชิดผูติดเชื้อ โควิด-19 ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ
• ผู้ที่ไม่แน่ใจว่าสัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อหรือไม่ แต่เริ่มมีอาการต้องสงสัย
เมื่อไหร่ที่ควรตรวจ Antigen Test Kit
• เพิ่งได้รับเชื้อ >> จะตรวจไม่พบในชุดตรวจ Antigen Test Kit
• หลังรับเชื้อ 3-5 วัน >> ตรวจพบเชื้อจากการตรวจ Antigen Test Kit แต่ในบางรายก็อาจจะยังไม่พบเชื้อ ต้องทำการตรวจซ้ำ
• หลังรับเชื้อ 5-14 วัน >> ตรวจพบเชื้อจากการตรวจ Antigen Test Kit
• หากหายป่วยแล้ว >>จะตรวจไม่พบในชุดตรวจ Antigen Test Kit
ในชุดตรวจ Antigen Test Kit มีอะไรบ้าง
• ตลับทดสอบ
• ก้านสำลีสำหรับ Swab
• หลอดใส่น้ำยาสกัด หรือน้ำยาเทส
• ฝาหลอดหยด
• เอกสารกำกับชุดตรวจ
วิธีใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit
• อ่านคำแนะนำ และคู่มือการใช้งานที่มากับชุด Antigen Test Kit
• เคลียร์จมูก สั่งน้ำมูก (ถ้ามี) ก่อนทำการ Swab
• ทำความสะอาดพื้นผิวที่จะวางชุดตรวจ
• ล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาด หรือล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล
• ฉีกซองไม้พันสำลีสำหรับ Swab ออกเบา ๆ ที่สำคัญ!! ห้ามเอามือไปจับบริเวณที่ต้องใช้เก็บสิ่งส่งตรวจเด็ดขาด เพราะการจับบริเวณสิ่งส่งตรวจ อาจทำให้ผลการทดสอบคลาดเคลื่อน เนื่องจากมีเชื้อโรคจากมือเราปนเปื้อนลงไปในก้านด้วย
• ทำการ Swab โดยการเงยหน้าขึ้นนิดนึง เสร็จแล้วแยงเข้าไปในโพรงจมูกช้าๆ โดยเริ่มจากข้างซ้ายก่อนก็ได้ ระยะหวังผล คือแยงเข้าไปลึกประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร หมุนเบา ๆ 5 รอบ
เสร็จแล้ว มาแยงจมูกข้างขวา ทำเหมือนเดิม หมนุเบาๆ อีก 5 รอบ
• สิ่งสำคัญในการ Swab ห้ามแยงแรงจนเลือดออก หากเลือดออก จะไม่สามารถยืนยันผลตรวจได้ ต้องรอแผลหาย แล้วใช้ชุดเทสชุดใหม่ เพื่อเทสซ้ำอีกรอบ
เมื่อเก็บสิ่งส่งตรวจเรียบร้อย จุ่มก้านสำลีสำหรับ Swab ลงในหลอดที่มีน้ำยาสกัด หรือน้ำยาเทส แกว่ง หรือหมุนเบา ๆ อย่างน้อย 5 รอบ พร้อมกับบีบก้นหลอด เพื่อให้เชื้อที่เราเก็บมา ให้ละลายในน้ำยาตรวจให้ทั่ว นำไม้ Swab ออก และปิดด้วยจุกฝาหลอดหยด
หยดน้ำยาลงในตลับทดสอบ ตามจำนวนหยดที่ชุดตรวจกำหนด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อ เพราะฉะนั้นอ่านฉลากให้ดีก่อนใช้
รออ่านผล ตามช่วงเวลาที่ชุดตรวจกำหนด โดยมาก 15-30 นาที (ห้ามอ่านผลก่อนหรือหลังเวลาที่กำหนด)
การอ่านผลและแปรผลทดสอบ Antigen Test Kit
ผลบวก ติดเชื้อโควิด-19
• ปรากฏแถบสีแดงคู่ ทั้งที่แถบทดสอบ (T) และแถบควบคุม (C) ติดเชื้อ
• เกิดแถบสีแดงที่แถบควบคุม (C) และแถบสีส้มที่แถบทดสอบ (T) ก็ยังนับว่าติดเชื้อ
• เกิดแถบสีส้มที่แถบควบคุม (C) และแถบสีแดงที่แถบทดสอบ (T) ก็ยังนับว่าติดเชื้อ
• เกิดแถบสีส้มที่แถบควบคุม (C) และแถบสีส้มที่แถบทดสอบ (T) ก็ยังนับว่าติดเชื้อ
สรุปคือ หากขึ้น 2 ขีดแสดงว่าติดเชื้อ เนื่องจากสีที่ต่างกันหรือสีเพี้ยนอาจเกิดขึ้นจากการจัดเก็บ ไม่มีผลต่อการทดสอบแต่อย่างใด
ผลลบ ไม่ติดเชื้อโควิด-19 ปรากฏเฉพาะแถบควบคุม (C)
• ผลที่ใช้งานไม่ได้ คือไม่ปรากฏแถบอะไรเลย แสดงว่าชุดตรวจอาจมีปัญหา แนะนำให้เทสซ้ำอีกครั้ง
ข้อแนะนำเพิ่มเติมหลังการทดสอบ Antigen Test Kit : หากพบการติดเชื้อ แนะนำให้ทำการทดสอบ RT-PCR ซ้ำเพื่อยืนยันผลอีกที เนื่องจากชุดตรวจ Antigen Test Kit เป็นการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้น
ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หรือ หมอมนูญ เปิดเผยว่า ช่วงนี้มีข่าวชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็ว ATK ให้ผลบวกปลอมในหลายประเทศ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ พร้อมแนะให้ ควรมีชุดตรวจโควิด 2 ยี่ห้อที่ต่างกัน เพื่อป้องกันผลบวกลวง
ถ้าตรวจคัดกรองคนที่ไม่มีความเสี่ยงและไม่มีอาการ แล้วได้ผลบวก อย่าเพิ่งตกใจ เพราะคิดว่าตัวเองติดเชื้อ ต้องรีบไปสถานพยาบาลตรวจรหัสพันธุกรรมด้วยวิธี RT-PCR เพื่อยืนยันว่าติดเชื้อจริง ขอให้ตั้งสติ ทำซ้ำด้วยตัวเองโดยใช้ชุดตรวจ ATK อีกยี่ห้อหนึ่ง ถ้าได้ผลเป็นลบ แสดงว่าการตรวจครั้งแรกให้ผลบวกปลอม ถ้าติดเชื้อจริงต้องบวกทั้ง 2 ยี่ห้อ หลังจากนั้นแนะนำให้เลิกไม่ใช้ชุดตรวจที่ให้ผลบวกปลอมอีกต่อไป แนะนำที่บ้านไม่ควรมีชุดตรวจ ATK เพียง 1 ยี่ห้อ ควรเตรียมชุดตรวจ ATK ไว้อย่างน้อย 2 ยี่ห้อ เพื่อทำซ้ำยืนยันว่าบวกจริงหรือปลอม"
ด้านนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ระบุถึงประสิทธิภาพชุดตรวจ ATK หาเชื้อโควิด-19 ว่า ชุดตรวจ ATK เป็นนโยบายจากรัฐบาลเพื่อออกมาให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น และมีราคาที่ถูก
ส่วนเกณฑ์การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้เสี่ยงสูง หากอยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ให้เว้นระยะการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ประมาณ 3-5 วัน ถึงค่อยตรวจหาเชื้อ แต่หากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีอาการ ไข้ ไอ หวัด สามารถตรวจหาเชื้อได้ทันที
ขณะที่การเก็บตัวอย่างชุดตรวจ ATK แบบโพรงจมูกที่ถูกต้อง ควรใช้ไม้แหย่รูจมูกลึกทั้ง 2 ข้าง ประมาณ 2-3 ซม. ปั่นวนในจมูก 5 รอบ ส่วนการเก็บตัวอย่างหาเชื้อโควิดแบบน้ำลาย ต้องอ่านเอกสารกำกับก่อนเริ่มทำการทดสอบและปฏิบัติตามคำแนะนำในเอกสารอย่างเคร่งครัด และอ่านผลตามระยะเวลาที่กำหนด
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ผลชุดตรวจ ATK ได้ผลบวก - ลบปลอม สาเหตุมาจาก ชุดตรวจไม่ผ่านคุณภาพจากอย. ชุดตรวจมีการปนเปื้อนจากพื้นที่ทำการทดสอบจากอุปกรณ์ที่ใช้ อ่านผลตรวจไม่ตรงตามเวลาที่กำหนด และดำเนินวิธีการตรวจไม่ถูกต้อง
นอกจากนั้น กรณีชุดตรวจ ATK สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้จัดซื้อจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาติจาก อย.แล้ว ซึ่งสามารถตรวจสอบข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ อย.
ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ต้องทำอย่างไร?
• รีบหาโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน แล้วไปตรวจแบบ RT-PCR ฟรีได้ (ระหว่างรอผล RT-PCR ควรหา hospitel
กรณีที่ต้องกักตัวแยกจากสมาชิกคนอื่นในบ้าน)
• หลังจากที่ได้ผล PCR แล้ว ให้รีบแจ้งประกันสังคมหรือประกันชีวิตที่ตนเองทำ เพื่อจัดหารพ.ให้แอดมิด หรือหา hospitel ให้พักรักษา
• ถ้าประเมินอาการตัวเองแล้วไม่หนักมาก สามารถแจ้งขอกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ทานยาตามแพทย์สั่งหรือตามอาการตัวเอง ดื่มน้ำเยอะๆ พักผ่อนเพียงพอ
• หากรู้สึกว่าตัวเองอาการหนัก เช่น หายใจไม่ออก หายใจติดขัด ให้รีบแจ้งโรงพยาบาลที่รับการรักษาเพื่อแอดมิดเป็นผู้ป่วยสีเหลือง/สีแดง
การแยกกักตัวแบบ Home Isolation & Community Isolation
• ติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง หลังผู้ป่วยโทรแจ้ง 1330
• เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ และ Telemonitor
• ดำเนินการตามแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโควิด-19 ที่ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
การรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารักษาในโรงพยาบาล มีเกณฑ์ 5 ข้อ
• เมื่อมีไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส
• หายใจเร็วกว่า 25 ครั้ง ต่อนาที
• Oxygen Saturation <94%
• มีโรคประจำตัวซึ่งมีการเปลี่ยนแปลง หรือจำเป็นต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
• ตามดุลยพินิจของแพทย์