สธ.ย้ำ วัคซีนโควิด-19 ทุกชนิด ลดป่วยหนักได้ แนะคนที่ฉีดไปนานแล้ว ให้ฉีดเข็มกระตุ้นต้าน "โอไมครอน" ล่าสุด สธ. ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม ตรวจ ATK ฟรี 28 ธ.ค. 64 – 3 ม.ค. 64 ที่หัวลำโพงและหมอชิต
วันที่ 30 ธ.ค. 64 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าว ประเด็นสถานการณ์โควิด 19 และข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวห่างไกลโอไมครอน โดยระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลก เผชิญกับการระบาดของโควิด-19 จากสายพันธุ์โอไมครอน จากประสบการณ์การระบาดของ โอไมครอน นำไปสู่มาตรการของไทยว่าเราจะสามารถควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง และฉลองปีใหม่ให้ปลอดภัยได้อย่างไร เป็นส่วนสำคัญ ว่า ประสบการณ์และการดำเนินงานที่ผ่านมา ประชาชน องค์กร หน่วยงานราชการ ทุกภาคส่วน เราจะผ่านช่วงปีใหม่อย่างปลอดภัย หรือเราจะเผชิญกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นเหมือนในประเทศต่างๆ
นพ.ทวีทรัพย์ เผยว่า สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำ คือ ประสบการณ์ทั้งหมดเรายังใช้มาตรการที่สำคัญเหมือนเดิม คือ วัคซีน เราทราบแล้วว่าทุกชนิด ทุกยี่ห้อหากฉีดครบ ลดป่วยหนักได้แน่นอน แต่เมื่อเผชิญสายพันธุ์โอไมครอน หากฉีดไปนานแล้ว ภูมิต้านทานอาจจะไม่เพียงพอ ประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้ออาจลดลง เช่น ในหลายประเทศ ที่จำนวนการตาย คนเข้า รพ. ไม่เพิ่ม แต่ติดเชื้อสูงขึ้น ดังนั้น มาตรการวัคซีนจำเป็น อย่างยิ่งที่จะดำเนินการต่อเนื่อง คนที่ฉีด 2 เข็มแล้วต้องมาฉีดเข็มกระตุ้น หรือในคนที่ยังไม่ฉีดควรรับการฉีดเพื่อป้องกันการป่วยหนักและฉีดให้ครบ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมวิทย์ฯ เผยไทยพบผู้ป่วย "โอไมครอน" แล้ว 739 ราย ติดเชื้อในประเทศ 251 ราย
รมช.สาธารณสุข คาด หลังปีใหม่ เลี่ยงโอไมครอนยาก เตรียมเสนอเวิร์กฟอร์มโฮม
ที่สำคัญอย่างยิ่งในการฉลองปีใหม่อย่างปลอดภัย เราต้องมีวัคซีนเป็นพื้นฐาน แต่ต้องมีมาตรการป้องกันสำคัญ คือ Universal Prevention ต้องคิดเสมอว่า เราต้องป้องกันหลายชั้น ตลอดเวลา มาตรการที่สำคัญ เว้นระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้า หรือ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด ขอเพียงใส่ให้ถูกต้อง หากใส่ลงจากจมูก คือ ใส่ไม่ถูกต้อง ต้องใส่ให้ครบทั้งด้านบนจมูกและคาง จะเป็นสิ่งสำคัญ หากเรายึดมั่นมาตรการส่วนบุคคล ก็จะสามารถป้องกันการป่วยหนักและป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกเหนือจากวัคซีนและการป้องกันตลอดเวลาแล้ว คือ เราจะดำเนินชีวิต โดยบริหารความเสี่ยงได้อย่างปลอดภัยได้อย่างไร ทุกท่านทราบว่าโควิด สาเหตุการติดระหว่างคนสู่คน และการติดต่อจะเป็นสถานที่ที่อยู่กันใกล้ชิด ไมได้สวมหน้ากาก และยิ่งเป็นสถานที่การระบายอากาศไม่ดี จะยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
ดังนั้น มาตรการต่างๆ เหล่านี้ในส่วนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางขนส่งสาธารณะ หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่ไม่มีการเว้นระยะห่าง หรือสถานที่ที่มีความเสี่ยง ต้องมีมาตรการป้องกันเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์โควิด
นพ.ทวีทรัพย์ ยังระบุอีกว่า หากกรณีที่สงสัย การวินิจฉัยโดยเร็ว และมีการแยกกักตัว เข้ารับการรักษา จะทำให้ป้องกันการแพร่ระบาดได้ หากเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความสงสัยว่ามีโอกาสเสี่ยง ควรจะมีการตรวจ ATK ซึ่งสามารถทำได้ด้วยตัวเอง และถ้าจะดี ก่อนไปร่วมกิจกรรมควรจะตรวจ โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่ เดินทางกลับไปบ้าน เยี่ยมญาติพบปะผู้คน คงไม่อยากเอาเชื้อโควิดไปแพร่ในพื้นที่ และเมื่อเดินทางกลับมาทำงาน หลังจากที่ฉลองเทศกาล เราก็คงจะไม่เอาเชื้อโควิดกลับมาฝากเพื่อนๆ ที่ทำงานเช่นกัน
ดังนั้น มาตรการในส่วนที่อยากจะเชิญชวน 2 ปีที่ประชาชน และประเทศไทยร่วมมือสู้กับโควิดจนสามารถควบคุมการระบาดในปัจจุบัน ที่มีการติดเชื้อ รายใหม่น้อยกว่า 3,000 รายต่อวัน เสียชีวิตราว 20 รายต่อวัน เราคงอยากจะเห็นว่าหลังการฉลองปีใหม่ ในเดือนมกราคม จำนวนการติดเชื้อรายใหม่จะไม่เพิ่มสูงมากเป็นจำนวน 2-3 หมื่นราย ในระยะเวลา 1 เดือน นั่นหมายถึงทำให้ระบบสาธารณสุขเป็นปัญหา
เราจะสามารถควบคุมการติดเชื้อได้ และไม่แพร่เชื้อ ด้วยการร่วมมือร่วมใจกันอีกครั้ง เราฉลองปีใหม่ได้ สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ใช้ชีวิตท่ามกลางการระบาดของสถานการณ์โควิดทั่วโลกได้ ด้วยมาตรการ ความร่วมมืออีกครั้ง ของประชาชนชาวไทย ในแง่ของ การใช้มาตรการ VUCA ทั้งการฉีดวัคซีน ร่วมกันป้องกันตลอดเวลา ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย รวมทั้งตรวจ ATK เมื่อมีอาการ
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวต่อไปว่า ท้ายนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับ กระทรวงการคมนาคม ในช่วงการเดินทางที่จะกลับไปบ้าน ได้จัดบริการหากต้องการตรวจโควิด สามารถตรวจ ATK ฟรี ได้ที่ สถานีหมอชิด สถานีหัวลำโพง สามารถขอรับบริการได้ และนอกจากนี้ ในช่วงกลับมาจากปีใหม่ กระทรวงสาธารณสุข กำลังดำเนินการหากกลับมาจากภูมิลำเนา จะจัดบริการตรวจที่สถานีขนส่ง ในภูมิลำเนาในพื้นที่ก่อนกลับมาอีกด้วย
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ คนไทยสามารถรอบรู้ข้อมูลเรื่องโควิด และสู้โควิด ฉลองปีใหม่ได้อย่างปลอดภัย ด้วยการบริหารความเสี่ยงของการร่วมกันดำเนินการฉีดวัคซีน ป้องกันตัวเองตลอดเวลา ดำเนินชีวิตที่ปลอดภัย และตรวจ ATK เมื่อสงสัยและเมื่อมีอาการ
จากข้อคำถามที่ว่า หากตรวจ ATK ทุก 3 วัน เป็นข้อปฏิบัติที่เหมาะสมหรือไม่ มีโอกาสเกิดผลบวกปลอมหรือไม่
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวว่า ทุกคนคนอยากจะป้องกันให้ได้มากที่สุด การตรวจ ATK เป็นมาตรการคัดกรองเมื่อสงสัยว่า เมื่อเรารับเชื้อเข้าไป เราจะสามารถตรวจพบได้ด้วยตนเอง โดยทั่วไป เชื้อโควิดจะตรวจพบหลังจากรับเชื้อใน 3 วัน เพราะฉะนั้น การตรวจ 3 วัน เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหากติดเชื้อสามารถตรวจพบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มาตรการการตรวจคัดกรอง เป็นการคัดกรอง ไม่สามารถป้องกันได้ 100% ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากตรวจโควิดแล้ว การร่วมงานต่างๆ ยังต้องดำเนินตามมาตรการป้องกันตลอดเวลา ปลดแมสเท่าที่จำเป็นในกรณีที่อาจจะต้องรับประทานอาหาร และยังต้องเว้นระยะห่าง
"คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเป็นทางการ ก็คงเป็นในเรื่องของการป้องกันตลอดเวลา เป็นพื้นฐาน และใช้มาตรการเสริม คือ การตรวจ ATK เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นพบการตรวจให้ได้มากขึ้น เรื่องผลบวกลวง อาจเกิดขึ้นได้ หากตรวจแล้วเป็นบวก ก็จะมีการตรวจซ้ำ และหากตรวจแล้วไม่พบเชื้อก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ เป็นสิ่งที่อยากจะเรียนชี้แจงว่า วัตถุประสงค์ของการใช้ ATK ไม่ใช่แค่ใบเบิกทาง แต่ช่วยเสริมมาตรการด้านความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดได้ดียิ่งขึ้น" นพ.ทวีทรัพย์ กล่าว