ผู้ว่าฯ กทม. ออกคำสั่งประกาศสั่งปิด "สถานบันเทิง" ชั่วคราวต่อไปจนถึง 15 ม.ค.2565 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ป้องกันการแพร่ระบาดของ "โควิด-19"
วันนี้ 29 ก.ค. 64 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ ๔๘) มีข้อความระบุว่า ตามที่กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ และ (ฉบับที่ ๓๙) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๔ โดยประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ ๔๕)ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๔ (ฉบับที่ ๔๖) ลงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ และ (ฉบับที่ ๔๓) ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๘ ซึ่งได้มีการผ่อนคลายให้บางสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรม สามารถเปิดดำเนินการ หรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เพื่อการดำเนินการ ขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการตามข้อกำหนดดังกล่าว จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๔ หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ด่วน! กทม.ประกาศยกเลิกกิจกรรมงานปีใหม่-สวดมนต์ข้ามปีทั้งหมด
• หมอชิต-หัวลำโพง เปิดจุดตรวจโควิดATK ฟรี ก่อนเดินทางกลับบ้านช่วงปีใหม่
• หมอธีระ เผยช่วงปีใหม่ จะเป็นตัวกำหนดความรุนแรงการระบาดของ "โอไมครอน" ในไทย
และต่อมาได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๔o) ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ < โดยให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการ ข้อห้ามข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติสำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนด (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓o ตุลาคม ๒๕๖๔ ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้น ภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป และให้มีการปรับมาตรการควบคุมแบบบูรณาการทั่วราชอาณาจักรเป็นกรณีเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่
โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณีพิจารณากำหนดให้บางสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมสามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อเทศกาลปีใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการความปลอดภัยที่รัฐบาลได้ยกระดับขึ้นเพื่อการฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคเป็นการเฉพาะ กรุงเทพมหานครจึงได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่สามารถดำเนินการได้ เป็นกรณีเฉพาะเพื่อเทศกาลปีใหม่ ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ โดยให้สถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมตามที่กำหนดไว้ในประกาศ สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อเทศกาลปีใหม่ ภายใต้เงื่อนไขของมาตรการความปลอดภัย ที่รัฐบาลได้ยกระดับขึ้น เพื่อการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการระบาดของโรคเป็นการเฉพาะ เช่นมาตรการ DMHTTA มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัย สำหรับองค์กร (Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดขึ้นโดยเคร่งครัดไปแล้วนั้น
ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินมาตรการควบคุมแบบบูรณาการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคเป็นไปอย่างต่อเนื่องตามข้อกำหนดดังกล่าว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๔ (๖) และมาตรา ๓๕ (๑) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ ประกอบกับข้อกำหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๐) ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ (ฉบับที่ ๓๖) ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ (ฉบับที่ ๓๗) ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๔ และ (ฉบับที่ ๔๐) ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ ๓๔/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
๑. ให้เจ้าของสถานที่ ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ ผู้ร่วมกิจกรรม และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ ๔๙) ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ต่อเนื่องไปอีก จนถึงวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๕ หรือจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง
๒. การจัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสเทศกาลปีใหม่ ที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลเป็นจำนวนมาก ให้ปฏิบัติตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง กำหนดสถานที่กิจการ หรือกิจกรรม ที่สามารถดำเนินการได้เป็นกรณีเฉพาะเพื่อเทศกาลปีใหม่ ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๔ ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. ๒๕๕๘ มาตรา ๕๑ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา ๕๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙
ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔