“ดีอีเอส” เผยตัวเลขคนไทย แชร์ข่าวปลอมมากถึง 23 ล้านคน อายุ 18-24 ปี หัวแถวผู้โพสต์และแชร์ข่าวปลอม อาชีพสื่อมวลชนสนใจประเด็นข่าวปลอมมากที่สุด
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากการติดตามข่าวสาร และการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ตั้งแต่จัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 62 จนถึง 23 ธ.ค. 64 มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 1,167,543 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 23,785,145 คน โดยช่วงอายุของผู้โพสต์และแชร์มากที่สุด คือ อายุ 18-24 ปี คิดเป็นสัดส่วน 54.5% ขณะที่อายุ 55-64 ปี มีพฤติกรรมแพร่กระจายข่าวปลอมต่ำสุด คิดเป็น 0.1%
สำหรับกลุ่มอาชีพที่สนใจประเด็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
• กลุ่มผู้สื่อข่าว คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 16.7% เนื่องมาจากเป็นกลุ่มอาชีพที่ประชาชนให้ความสนใจ และเกิดความเชื่อถือในการเผยแพร่มากที่สุด
• กลุ่มผู้จัดการ/ผู้บริหาร 9.3%
• ผู้ประกอบกิจการต่างๆ 8%
ขณะที่กลุ่มอาชีพของผู้แชร์ข่าวที่เข้าข่ายเป็นข่าวปลอมมากที่สุด 3 อ้นดับแรก ได้แก่
• กลุ่มอาชีพคุณครู อาจารย์ 14.0%
• กลุ่มนักเรียน นักศึกษา
• กลุ่มอาชีพช่างภาพ 9.4%
• กลุ่มอาชีพวิศวกร 7.0%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• ข่าวปลอม! "ใบรับรองการฉีดวัคซีน" สามารถจ้างผู้อื่นทำได้ แม้ไม่ได้ฉีดจริง
• ข่าวปลอม! เลือดผู้ฉีดวัคซีนโควิด-19 สีดำคล้ำ ใช้รักษาผู้ป่วยไม่ได้
• ข่าวปลอม! เป็นริดสีดวง เสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
โดยในรอบปี 2564 มีรายชื่อสำนักข่าว และ Influencer ที่ช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวจากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมมากสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ ไทยรัฐ จส.100 มติชน บางกอกโพสต์ FM91 Trafficpro ข่าวจริงประเทศไทย ฐานเศรษฐกิจ News.ch 7 โพสต์ทูเดย์ และคมชัดลึก ตามลำดับ
สำหรับภาพรวมผลการดำเนินการของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (วันที่ 1 พ.ย. 2562 – 23 ธ.ค. 2564) มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรอง 455,121,428 ข้อความ หลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 13,262 เรื่อง แบ่งเป็น หมวดหมู่สุขภาพ 6,855 เรื่อง ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 5,865 เรื่อง หมวดหมู่เศรษฐกิจ 282 เรื่อง และหมวดหมู่ภัยพิบัติ 260 เรื่อง
ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เริ่มจัดเก็บข้อมูลการเปรียบเทียบ Trend ของหมวดหมู่ข่าวทั้ง 4 หมวด โดยระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 63 - 23 ธ.ค. 64 พบว่า หมวดนโยบาย มีแนวโน้มสูงสุด มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 53,017 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 46.77% โดยพบว่าข่าวปลอมสูง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาเพื่อเยียวยาให้กับประชาชน มียอดการพูด การสนทนา การโพสต์ บทความ ถึงนโยบายเยียวยา การแชร์ข้อมูลความถี่สูงขึ้น
รองลงมาเป็น หมวดหมู่สุขภาพ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 29,329 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 25.87% พบว่าข่าวปลอมสูงในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เช่นกัน โดยคาดการณ์ในอนาคตมีแนวโน้มว่า หากมีการพบโรคระบาดใหม่ก็เป็นไปได้ว่าจะมีการนำประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพ การรับประทาน การรักษาด้วยตนเอง มาบิดเบือนและแชร์ข้อมูล เกิดความเข้าใจผิดวนซ้ำได้อีก
ขณะที่ หมวดหมู่เศรษฐกิจ มียอดเฉลี่ยการพูดถึง 15,966 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 14.09% พบข่าวบิดเบือนและข่าวปลอม ในช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าอุปโภคและบริโภค ส่วนหมวดหมู่ภัยพิบัติ มีแนวโน้มที่จำนวนการพูดถึงเฉลี่ย 15,042 ครั้งต่อวัน คิดเป็น 13.27% โดยพบข่าวปลอมสูงในบางช่วง ในสถานการณ์วิกฤต ช่วงเกิดภัยพิบัติต่างๆ กระแสข่าวเกี่ยวกับมีผู้ประสบภัยพิบัติของทั้งในและต่างประเทศ
ข่าวปลอมที่เผยแพร่มากที่สุดคือหมวดสุขภาพ มี 10 อันดับ ดังนี้
1 ข่าวปลอม เรื่อง คลิปสุดช็อค! ไวรัสโคโรน่า ทำคนล้มทั้งยืน
2 ข่าวจริง เรื่อง ถูกเห็บกัดเอาออกไม่ถูกวิธี อาจเป็นอัมพาตชั่วคราว
3 ข่าวจริง เรื่อง สาธารณสุขไทย เผยข่าวดี แพทย์ไทยรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่า อาการดีขึ้น
ใน 48 ชั่วโมงหลังการรักษา
4 ข่าวปลอม เรื่อง ลือหนัก ‘คนขับรถทัวร์’ ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า รพ.ถูกสั่งปิดข่าวเงียบ เลี่ยงยอดติดเชื้อเพิ่ม
5 ข่าวปลอม เรื่อง สถานที่เสี่ยง ที่คนติดเชื้อ COVID-19 เคยไป
6 ข่าวปลอม เรื่อง พัทยาพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากไวรัสโคโรน่า 1 ราย
7 ข่าวปลอม เรื่อง กรมควบคุมโรค หยุดใช้เครื่องตรวจวัดฯ ไวรัสโคโรน่า หลังทางการ ‘อู่ฮั่น’ สั่งปิดเมือง
8 ข่าวปลอม เรื่อง เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ สามารถติดต่อผ่านการมองตาได้ ข่าวปลอม สร้างความเข้าใจผิด
9 ข่าวปลอม เรื่อง สธ.จัดโซนจังหวัดอันตรายเสี่ยง COVID-19
10 ข่าวปลอม เรื่อง ‘ไข้หวัดหมู’ ระบาดหนักในไต้หวัน ติดเชื้อเสียชีวิตกว่า 50 คนใน 3 เดือน