ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่มีการระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ทำให้เริ่มมีความกังวลว่าการระบาดระลอกนี้ จะมีความรุนแรงแค่ไหน แม้จะยังไม่มีผลการวิจัยรับรองแน่ชัด แต่ในหลักการแล้ววัคซีน mRNA ยังคงเป็นความหวังในการป้องกันโควิด โอไมครอน
ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ข้อดีของวัคซีน mRNA คือ สามารถปรับสูตรได้อย่างรวดเร็ว เพราะทันทีที่เราทราบรหัสพันธุกรรมของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ก็จะผลิตวัคซีนต้นแบบได้ทันที แต่กระนั้นวัคซีนต้นแบบชนิดใหม่ๆ ยังคงต้องผ่านกระบวนการทดสอบทั้งในด้านประสิทธิผล และประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ซึ่งต้องใช้เวลายืนยันความปลอดภัยและผลลัพธ์ที่ได้ ก่อนจะได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาให้นำมาใช้จริง
การที่วัคซีน mRNA สามารถปรับสูตรวัคซีนได้อย่างรวดเร็วนั้น ศ.นพ.มานพ อธิบายง่ายๆ ว่า การให้วัคซีน คือการสอนให้ร่างกายของเรารู้จักเชื้อโรค เพื่อให้กระบวนการป้องกันตามธรรมชาติทำงานได้ดีขึ้น การผลิตวัคซีน mRNA จึงใช้วิธีการแนะนำให้ร่างกายรู้จักโปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 โดยใช้ mRNA ซึ่งเป็นแม่พิมพ์ที่สามารถสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีนหนามตามที่ต้องการได้ เมื่อนำแม่พิมพ์ mRNA ในการสร้างโปรตีนหนามของไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกาย เซลล์ของร่างกายเราจึงสร้างโปรตีนหนามให้ร่างกายรับรู้ เมื่อร่างกายรู้จักโปรตีนหนามของไวรัสนี้แล้ว จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนหนามขึ้น หลังจากนี้เมื่อได้รับเชื้อจริง ร่างกายจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาได้เองเพื่อต่อต้านการโจมตีของเชื้อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"หมอยง" แนะเร่งฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ให้เร็วขึ้นเพื่อต่อสู้ "โอไมครอน"
นิตยสาร Time ยก อีลอน มัสก์ บุคคลแห่งปี - ทีมพัฒนาวัคซีน mRNA ฮีโร่ของปี
ในขณะนี้ บริษัทผู้ผลิตวัคซีนต่างก็กำลังค้นคว้าอย่างเร่งด่วนเพื่อที่จะได้รู้จักและเข้าใจเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนวัคซีนโควิด-19 ที่ทันต่อการกลายพันธุ์ เช่น บริษัทโมเดอร์น่ากำลังดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ของวัคซีนโมเดอร์นาทั้ง 3 สูตร ได้แก่ 1) วัคซีนเข็มกระตุ้นสูตร mRNA-1273 ในขนาด 100 ไมโครกรัม 2) วัคซีนสูตรผสมที่รวมสายพันธุ์เบต้าและเดลต้า ซึ่งมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเหมือนกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน และ 3) จะเร่งดำเนินการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สูตรใหม่ที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
ในระหว่างที่ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนยังไม่แพร่กระจายมากจนเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟ่า เบต้า และเดลต้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทยขณะนี้ วัคซีนชนิด mRNA ทั้งสองยี่ห้อที่มีอยู่ในประเทศไทยยังคงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลดี แม้จะใช้หลักการและเทคโนโลยีเดียวกันในการผลิต วัคซีนทั้งสองยี่ห้อก็มีส่วนปลีกย่อยที่ส่งผลให้มีประสิทธิผลที่แตกต่างกัน
สิ่งที่ทำให้ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 มีความแตกต่างกันนั้น ศ.นพ.มานพอธิบายว่า ข้อแรก คือ ตัวห่อหุ้ม หรือ Lipid nanoparticles ที่ใช้หุ้ม mRNA เพื่อป้องกันไม่ให้สลายตัวก่อนฉีดเข้าไปในร่างกาย ที่วัคซีนแต่ละยี่ห้อใช้นั้นไม่เหมือนกัน ส่วนข้อสอง ซึ่งมีความสำคัญมาก คือ ปริมาณ mRNA ในวัคซีนที่ต่างกัน ซึ่งปริมาณที่เหมาะสมนี้ได้จากการศึกษาในอาสาสมัครที่พบว่ามีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และไม่มีผลข้างเคียงมากเกินไป ก่อนนำมาศึกษาทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิภาพเทียบกับยาหลอก แล้วจึงนำมาใช้จริง
จากผลการศึกษาทางคลินิกเฟสสาม วัคซีนชนิด mRNA ทั้งสองยี่ห้อมีประสิทธิภาพสูงเกิน 95% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดิมโดยผลการติดตามการใช้จริงในประเทศกาตาร์เมื่อต้นปี 2564 แสดงให้เห็นว่า ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนโมเดอร์น่าเข็มแรกต่อเชื้อสายพันธุ์อัลฟ่าสูงถึง 88.1% และถ้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจะได้สูงถึง 100% ในขณะที่ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อต่อเชื้อสายพันธุ์เบต้า สูงถึง 96.4% เมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
การศึกษาเปรียบเทียบวัคซีนทั้งสองชนิดในรัฐมินเนโซตา สหรัฐอเมริกา ระหว่างเดือนธันวาคม 2563 – กรกฎาคม 2564 โดยใช้อาสาสมัครกลุ่มละกว่า 25,000 คน ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวของการระบาดทั้งสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า พบว่าจำนวนอาสาสมัครที่ติดเชื้อภายหลังได้รับวัคซีนโมเดอร์น่ามีน้อยกว่าวัคซีนไฟเซอร์เกือบ 2 เท่า (38:72 คนตามลำดับ) โดยในเดือนสุดท้ายของการศึกษา พบว่าประสิทธิผลในการป้องกันอาการหนักต้องเข้ารพ. ยังดีมาก โดยวัคซีนโมเดอร์น่า ยังคงมีประสิทธิผลที่ 81% (ลดลงจาก 91.6%) ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์มีประสิทธิผลที่ 75% (ลดลงจาก 85%)
ด้านผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA มี 2 เรื่องหลัก เรื่องแรก คือ การแพ้รุนแรง ซึ่งวัคซีนทั้งสองยี่ห้อมีอุบัติการณ์ใกล้เคียงกัน คือ พบในอัตราประมาณ 1 ต่อ 300,000 คน ส่วนเรื่องที่สอง คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ รายงานจากบริษัทโมเดอร์น่าระบุว่า ชายอายุต่ำกว่า 30 ปีที่ได้รับวัคซีนโมเดอร์น่า มีโอกาสที่จะเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ มากกว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากประเทศฝรั่งเศสในชายวัย 12-29 ปี โดยข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า พบผู้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 13.3 รายจากจำนวนผู้ฉีดวัคซีนโมเดอร์น่าทั้งหมด 100,000 ราย เมื่อเทียบอุบัติการณ์ 2.7 ต่อ 100,000 รายในผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับผลดีในการป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว การฉีดวัคซีนถือได้ว่ามีประโยชน์มากกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการไม่ฉีดวัคซีน และผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ รวมถึงองค์การอนามัยโลกยังคงเน้นย้ำว่า วัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการรับมือกับโรคโควิด-19 และเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่