svasdssvasds

สวนกระแสโควิด ‘แม็คโคร’ เดินหน้าเพิ่มทุนสำเร็จประมาณ 50,000 ล้านบาท

สวนกระแสโควิด ‘แม็คโคร’ เดินหน้าเพิ่มทุนสำเร็จประมาณ 50,000 ล้านบาท

ปิดดีลใหญ่ส่งท้ายปีเกือบ 50,000 ล้านบาท กับโอกาสของนักลงทุนที่จะร่วมเติบโตไปพร้อมกับแม็คโครและโลตัสในระดับภูมิภาค โดยล่าสุด จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน ของ บมจ. สยามแม็คโคร ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจำนวนมาก

ถือเป็นการปิดดีลส่งท้ายปีท่ามกลางสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ ผลกระทบจากเศรษฐกิจและนโยบายทางการเงินที่ไม่แน่นอนทั่วโลกและตามมาด้วยผลกระทบในตลาดค้าปลีกจากมาตรการล็อคดาวน์ของภาครัฐ แต่ยังสามารถปิดดีลเพิ่มทุนได้เกือบ 50,000 ล้านบาท  โดยหลังจากนี้คงจะได้เห็นการพลิกโฉมครั้งใหญ่สู่เป้าหมายการเป็นแชมเปี้ยนค้าปลีก-อีคอมเมิร์ซ” ขึ้นเบอร์หนึ่งในเอเชีย พร้อมพาเอสเอ็มอี-เกษตรกรลุยตลาดโลก

 

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และประธานกรรมการ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เครือซีพีตั้งเป้าขยายร้านค้าปลีกและร้านค้าส่งของเครือให้ได้อย่างรวดเร็ว ทั่วภูมิภาคซึ่งรวมถึงสาขาของสยามแม็คโครและศูนย์ค้าปลีกค้าส่งรูปแบบอื่นๆ ในเครือซีพี  ปัจจุบัน เครือซีพีมีธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจค้าส่งอยู่ในประเทศจีน มาเลเซีย อินเดีย กัมพูชา เมียนมา ภายใต้แบรนด์และรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย รวมจำนวนประมาณ 337 ร้านค้า

“ธุรกิจค้าปลีกเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยบนเวทีระดับโลก และเป็นธุรกิจที่ประเทศไทยสามารถประสบความสำเร็จบนเวทีโลกได้ นี่คือวิสัยทัศน์ร่วมกันของธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกและค้าส่งในเครือซีพี”

สวนกระแสโควิด ‘แม็คโคร’ เดินหน้าเพิ่มทุนสำเร็จประมาณ 50,000 ล้านบาท

นาง สุชาดา อิทธิจารุกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจสยามแม็คโคร (ธุรกิจค้าส่ง) เปิดเผยว่า ในการเสนอขายหุ้นของแม็คโครที่ผ่านมานั้น ขอขอบคุณทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไป ที่ให้การสนับสนุนในครั้งนี้  ถึงแม้ระยะเวลาของการเสนอขาย จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจและตลาดหุ้น ยังได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤต และเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว หุ้นแม็คโครก็ยังได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อศักยภาพของบริษัท และพร้อมที่จะเติบโตไปกับเรา ในการไปสู่เป้าหมายการเป็นธุรกิจค้าปลีกไทยระดับภูมิภาค จากนี้ไป บริษัทฯจะดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ โดยจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาด้านดิจิทัล การขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ รวมทั้งการปรับรูปแบบและขยายสาขาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกประเภท ทั้งลูกค้าผู้ประกอบการและผู้บริโภคทั่วไป นอกจากนี้ทีมงานทั้งแม็คโครและโลตัสจะร่วมมือกันเสริมสร้างประสิทธิภาพการทำงานในส่วนต่าง ๆให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น

ด้าน นายสมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย กล่าวว่า ในนามของผู้บริหารโลตัส ขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่าน ที่ได้จองซื้อหุ้นเพื่อร่วมเติบโตไปกับธุรกิจแม็คโครและโลตัส ซึ่งเรามั่นใจว่าจำนวนเงินจากการระดมทุนครั้งนี้จะเพียงพอต่อการนำไปดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจและสร้างแพลตฟอร์มแห่งโอกาสของผู้ประกอบการไทยในห่วงโซ่ธุรกิจของเรา ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังปรับตัวดีขึ้น และแนวโน้มการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่กำลังฟื้นตัว เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถส่งมอบผลประกอบการได้ตามแผนที่วางไว้

 

“การสร้างธุรกิจ “อีคอมเมิร์ซ” และ “O2O” โมเดลธุรกิจแบบ Online to Offline ทั้งในไทยและภูมิภาค ในห้วงภาวะที่ทุกวันนี้ในประเทศไทยล้วนเต็มไปด้วยผู้เล่นดิจิทัลออนไลน์ระดับโลก เข้ายึดพื้นที่ มองกลับมาที่ประเทศไทยเรากลับไม่มีแพลตฟอร์มสัญชาติไทยขึ้นเทียบเคียง”

วันนี้หากมองในแง่ของการเติบโตของตลาดค้าปลีกในระดับภูมิภาคอาเซียนอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยเมื่อเทียบรายได้จีดีพีต่อจำนวนประชากรในหลายประเทศในอาเซียนพบว่ายังมี “โอกาสเติบโต” และขยายฐานธุรกิจนี้ไปได้ทั้งใน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และลาว หากพิจารณาถึงภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่เมื่อแม็คโครรุกขยายธุรกิจในเมืองใหญ่ของประเทศเหล่านี้ และสร้างการเติบโต 10 ปี 15 ข้างหน้าก็จะมีโอกาสสูงมากที่ธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซของไทยจะเป็นผู้นำเบอร์หนึ่งในประเทศเหล่านี้ แล้วเมื่อเชื่อมโยงไปยังจีน และอินเดีย ซึ่งมีประชากรรวมกันถึง 3,300 ล้านคน ก็จะเห็นถึงทิศทางที่ชัดเจนว่าวันนี้ตลาดในอาเซียนและเอเชียยังมีพื้นที่ให้เติบโตในลักษณะคล้าย S-Curve (ดูตารางกราฟิกประกอบ) แสดงให้เห็นว่ามูลค่าตลาดโมเดิร์นเทรดของเอเชียโดยเฉพาะของสด (Fresh) และของชำ (Grocery) ที่มีกว่า 3.2 ล้านล้านเหรียญ เป็นโอกาสให้บริษัทของไทยเข้าไปขยายธุรกิจเป็นผู้เล่นสำคัญระดับโลกได้

ในภาพรวมเมื่อดูกลยุทธ์ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” เพื่อการสร้างการเติบโตของแม็คโคร หลังรับโอนโลตัส จะเห็นได้ว่าเป็นทั้ง โอกาสการลงทุนและโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศไทยด้วย นั่นเพราะการรุกกลยุทธ์เป็นผู้นำกลุ่มค้าปลีกค้าส่งในระดับภูมิภาค รวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์ม O2O เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคในยุคดิจิทัล โดยจะมีการส่งเสริมเอสเอ็มอี และเกษตรกร ในการมาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ที่จะนำสินค้าและผลผลิต ผลิตภัณฑ์มาร่วมบุกตลาดต่างประเทศไปด้วยกัน ผ่าน “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” สร้างระบบนิเวศออนไลน์ของการค้าปลีกรูปแบบใหม่ ที่ช่วยให้เกษตรกร ผู้ผลิต และ เอสเอ็มอีขยายช่องทางค้าปลีกได้กว้างมากขึ้นในตลาดระดับโลก ผ่านการให้บริการแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย แบบ B2B  ที่จะเปิดทางนำศักยภาพของคนไทยทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกรไทยให้เติบโตไปด้วยกัน

related