กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันไทยตรวจเจอผู้ติด "โอไมครอน"รายแรก เป็นชายชาวอเมริกัน เดินทางจากประเทศสเปน เข้าไทยรูปแบบ test and go
วันที่ 6 ธ.ค. 64 ที่ กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าว ประเด็น "สถานการณ์และความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โอไมครอน" โดย นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยตรวจเจอผู้ติดโควิดสายพันธุ์โอไมครอนรายแรก เป็นชายชาวอเมริกัน เดินทางมาจากประเทศสเปน เข้าไทยในรูปแบบ test and go
สำหรับเทคนิคการตรวจสายพันธุ์ไวรัสก่อโรคโควิด-19 จะมี 3 วิธีทดสอบ คือ
1. RT-PCR โดยใช้น้ำยาพิเศษแต่ละสายพันธุ์โดยตรง ใช้เวลา 1-2 วัน โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศดำเนินการได้
2. Target sequencing เป็นการดูรหัสพันธุกรรมว่าเหมือนชนิดใดใช้เวลา 3 วัน
3. Whole genome sequencing เป็นการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ใช้เวลา 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ ขณะนี้ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะที่จะตรวจหาสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งใช้เวลาเร็วที่สุด1-2วัน จะต้องใช้เวลาพัฒนาอีก 2 สัปดาห์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• หมอธีระวัฒน์ แนะเฝ้าจับตาความรุนแรงของ "โอไมครอน" ฉีดวัคซีนแล้วยังติดได้
• หมอธีระเผยโอไมครอน ทำผู้ป่วยโควิดติดเชื้อซ้ำ มากกว่าเบต้า-เดลต้า 2.4 เท่า
• หมอโอภาส ปฏิเสธข่าวลือพบ "โอไมครอน" เคสแรกในไทย ยันต้องรอผลตรวจแน่ชัด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้พัฒนาเทคนิคการตรวจหาโอไมครอนให้ได้โดยเร็วในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะ เพื่อให้ศูนย์วิทย์ทั่วประเทศสามารถตรวจสายพันธุ์โอไมครอนได้รวดเร็ว โดยจากการวิเคราะห์ พบว่า โอมิครอน มีจุดกลายพันธุ์ HV69-70deletion ที่เหมือนกับอัลฟา และจุด K417N ที่เหมือนกับเบตา
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงเอาคุณสมบัตินี้มาพัฒนาเทคนิคในการตรวจสายพันธุ์โอไมครอน โดยนำตัวอย่างที่ได้จากผู้เดินทางเข้าประเทศไทยและตรวจพบติดโควิดทุกรายมาตรวจด้วยน้ำยา 2 ตัว คือ น้ำยาเฉพาะตรวจหาสายพันธุ์อัลฟา และน้ำยาเฉพาะตรวจหาสายพันธุ์เบตา หากตรวจพบจากน้ำยาของอัลฟาและเบตาทั้ง 2 น้ำยาให้รายงานเป็นสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ศูนย์วิทย์รายงานการตรวจสายพันธุ์โอมิครอนได้เร็วใน 1-2 วันในระหว่างที่ยังไม่มีน้ำยาเฉพาะตรวจโอไมครอน แทนที่จะต้องใช้วิธีดูรหัสพันธุกรรมที่ใช้เวลา 3 วันหรือถอดรหัสทั้งตัวที่ใช้เวลา 1สัปดาห์