ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ ชุดตรวจโควิดสายพันธุ์ "โอไมครอน" (B.1.1.529) คาดว่าจะแล้วเสร็จใช้งานได้ในอีก 2 สัปดาห์ ชี้ สายพันธุ์นี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วเหนือกว่าเดลต้า และกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม
28 พ.ย. 64 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับการจะตรวจคัดกรอง "Omicron (B.1.1.529)" โควิดกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) ตัวใหม่ล่าสุดกันอย่างไร ระบุว่า วันที่ 24 พฤศจิกายน 2021 ประเทศแอฟริกาใต้ รายงานไปยัง WHO ถึงการตรวจพบ “B.1.1.529” จากตัวอย่างที่เก็บจากผู้ติดเชื้อคาดว่าเป็นรายแรกเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2021
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
26 พฤศจิกายน 2564 WHO ได้กําหนดให้ B.1.1.529 เป็น สายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern)* โดยให้ชื่อว่า “Omicron” เนื่องจากมีการแพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คนอย่างรวดเร็ว และมีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิมถึงกว่า 60 ตำแหน่ง หลายตำแหน่งเป็นการกลายพันธุ์ที่ WHO เคยระบุไว้ว่าเป็น สายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern; VOC) หรือสายพันธุ์ที่ต้องให้ความสนใจ (variants of interest; VOI) ในสายพันธุ์ อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ฯลฯ
การวินิจฉัย “B.1.1.529” ทางห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันยังคงตรวจพบสายพันธุ์นี้ได้ด้วยเทคนิค "ATK" และ “PCR” อย่างไรก็ดีห้องปฏิบัติการหลายแห่งระบุว่าสําหรับการทดสอบ PCR ที่ตรวจไวรัสโควิด 2019 พร้อมกัน 3 ยีน จะมียีน "S” ที่อาจจะตรวจจับไม่ได้เนื่องจากมีการกลายพันธุ์ไปมาก (S dropout) WHO กล่าวว่าข้อสังเกตนี้สามารถใช้เป็นตัวคัดกรองตัวอย่างต้องสงสัยว่าจะเป็นสายพันธุ์ “Omicron” ได้
27 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ประสานกับห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา รพ. รามาธิบดี ให้เฝ้าระวัง ตัวอย่าง S dropout หากพบเพื่อความรวดเร็วจะนำมาตรวจจีโนไทป์กับตัวตรวจตาม 40 ตำแหน่งด้วยเทคโนโลยี “Mass array”ให้แล้วเสร็จใน 24-48 ชั่วโมง โดยจะมีต้นทุนที่ประหยัดกว่าการถอดรหัสพันธุ์กรรมทั้งจีโนม เพื่อให้ทราบว่าเป็นสายพันธุ์ Omicron (B.1.1.529) ในเบื้องต้นหรือไม่
อนึ่งชุดตรวจสายพันธุ์ Omicron (B.1.1.529) 40 ตำแหน่งบนจีโนมไวรัสพร้อมกันด้วยเทคโนโลยี "Mass Array" คาดว่าจะแล้วเสร็จใช้งานได้ในอีก 2 สัปดาห์จากนี้
จากนั้นมีการยืนยันผลด้วยเครื่องถอดรหัสพันธุกรรมรุ่นที่ 3 (3rd generation sequencer) ซี่งจะถอดรหัส SARS-CoV-2 ทั้งจีโนมแล้วเสร็จได้อย่างรวดเร็วใน 48-72 ชั่วโมงโดยไม่ต้องรอทำตัวอย่างครั้งละมากๆ แต่หากมีความจำเป็นต้องทำจำนวนมากก็ สามารถรองรับการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 ได้ประมาณ 100 รายต่อสัปดาห์ เพื่อดูรายละเอียดของการกลายพันธุ์
ส่งลําดับจีโนมที่สมบูรณ์และข้อมูลที่เกี่ยวข้องทางระบาดวิทยาและทางคลินิกไปยังฐานข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น “GISAID” ภายใน 48 ชั่วโมงหลังได้ข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ Omicron
ร่วมมือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดในการร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสโคโรนา 2019 จากตัวอย่างทั่วประเทศ
Omicron (B.1.1.529) คาดว่าจะก่อให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในแอฟริกา และอาจทั่วโลก ขณะนี้พบว่ามีการแพร่ติดต่ออย่างรวดเร็วเหนือกว่าเดลตา และกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม (Wuhan virus) มากกว่า 60 ตำแหน่ง
*คำจำกัดความของการกลายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variant of concern) ของ WHO คือ
ไวรัสกลายพันธุ์ที่
1. มีการแพร่ติดต่อเพิ่มขึ้นที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชน
2. เพิ่มความรุนแรงในด้านอาการทางคลินิก หรือ
3. ลดประสิทธิผลของมาตรการด้านสาธารณสุขและสังคม หรือการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ วัคซีน ยาต้านไวรัสที่มีใช้อยู่