พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.640 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในรูปแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยครั้งแรกมีการพบผู้ติดเชื้อที่ฝรั่งเศสช่วงปลายเดือนตุลาคม โดยนักวิจัยยังไม่รู้ว่าสายพันธุ์ใหม่นี้จะรุนแรงหรือติดเชื้อง่ายกว่าเดิมหรือไม่
โควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.640 กำลังเป็นไวรัสกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกจับตา โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปที่พบผู้ติดเชื้อในบางประเทศ ไม่ต่างจากที่ประเทศไทยก็ให้ความสนใจ อย่างผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศบค. ได้โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก “Warat Karuchit” ระบุว่า
“พบโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ฝรั่งเศส B.1.640 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ในรูปแบบที่ไม่เคยพบมาก่อน โดยพบที่ฝรั่งเศสช่วงปลายเดือนตุลาคม และไม่พบในฝรั่งเศสอีก แต่ไปพบที่ประเทศในยุโรปอื่นๆ คือ อังกฤษ สวิส สกอตแลนด์ อิตาลี
นักวิจัยยังไม่รู้ว่าสายพันธุ์ใหม่นี้จะรุนแรงหรือติดเชื้อง่ายกว่าเดิมหรือไม่ แต่เชื่อว่า สายพันธุ์ใหม่นี้เกิดขึ้นที่แอฟริกา จากการที่มีการฉีดวัคซีนยังไม่ทั่วถึง จึงก่อให้เกิดการกลายพันธุ์”
ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึง โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ฝรั่งเศส B.1.640 แต่ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่า สื่อฝรั่งเศส La Telegramme รายงานข่าวครั้งแรกว่าพบผู้โควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์ “B.1.640” จำนวน 24 ราย ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในแคว้นเบรอตง ของฝรั่งเศส เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ควบคุมการระบาดได้แล้วโดยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดสายพันธุ์ใหม่ B.1.640 กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสที่ “อู่ฮั่น”
จากรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมพบว่า โควิดสายพันธุ์ B.1.640 ไม่ใช่ลูกหลานหรือสายพันธุ์ย่อยของ เดลตา อัลฟา เบตา แกมมา มิว และแลมบ์ดา
โควิดสายพันธุ์ B.1.640 กลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม (อู่ฮั่น) มากกว่า 60 ตำแหน่ง (สายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์ต่างไปจากไวรัสดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากกว่า 60 ตำแหน่ง เช่นกัน) (ภาพ 1)
จากนั้นพบผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ B.1.640 ในสหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และอิตาลี แต่จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นเพียง “หลักหน่วยและหลักสิบ” เท่านั้น ยังไม่มีการระบาดเป็นวงกว้าง สาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะประเทศเหล่านั้นมีเชื้อเดลตาสายพันธุ์หลัก และสายพันธุ์ย่อย ระบาดยึดครองอยู่ (ภาพ 2)
การกลายพันธุ์ส่งผลให้มีกรดอะมิโนบนโปรตีนหนามของไวรัส “B.1.640” เปลี่ยนแปลงต่างไปจากสายพันธุ์ เดลตา อัลฟา เบตา แกมมา มิว และแลมบ์ดา บริเวณตำแหน่ง N394S, R346S, 137−145del, F490R, P9L, E96Q, R346S, Y449N, และ T859N ในส่วนที่เหมือนก็มีเช่นกันคือ N501Y, D614G, P681H (ภาพ 3)
ถึงแม้ว่าศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention, CDC), ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control, ECDC) และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่จัดโควิดสายพันธุ์ B.1.640 เข้าอยู่ในสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern; VOC) และ สายพันธุ์ที่น่าสนใจแก่การติดตาม (variants of interest; VOI)
อย่างไรก็ดี ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งยุโรป (ECDC) ได้จัดB.1.x หรือ B.1.640 ให้อยู่ในกลุ่ม Variants under monitoring (VUM) หรือไวรัสกลายพันธุ์ภายใต้การติดตามตรวจสอบ (ภาพ 4)