ดูเลย! ลอยกระทง 2564 นี้ ใช้กระทงแบบไหน? รักษ์สิ่งแวดล้อมและลดปริมาณขยะจากกระทง พร้อมเปิดสถิติขยะกระทงย้อนหลัง 9 ปี
ลอยกระทงปี2564 ใกล้จะถึงเข้ามาแล้ว ปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 19 พ.ย. เชื่อว่าหลายๆคนน่าจะเริ่มมองหาสถานที่ไปลอยกระทงหรือวิธีทำกระทงกันบ้างแล้ว และปีนี้ค่อนข้างพิเศษ เพราะถือเป็นประเพณีแรกที่เราจะได้เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ หลังจากที่เจอสถานการณ์โควิดและใช้ชีวิตแบบไร้สีสันมานานเป็นปี
ก่อนจะไปลอยกระทงปี2564 กัน มีข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) มาฝาก เนื่องจากปัจจุบันหลายคนหันไปใช้กระทงรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อหวังจะลดปริมาณขยะจากกระทง แต่กระทงแต่ละชนิดก็ใช้ระยะเวลาย่อยสลายแตกต่างกัน บางชนิดอาจย่อยสลายได้เร็ว บางชนิดอาจกลายเป็นอาหารปลาได้ แต่หากมีปริมาณที่มากเกินไปก็ย่อมส่งผลเสียเช่นกัน
กระทงแต่ละชนิด ใช้เวลาย่อยสลายแค่ไหน?
– กระทงน้ำแข็ง ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
– กระทงที่ทำจากมันสำปะหลัง ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
– กระทงที่ทำจากขนมปัง โคนไอศครีม ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 3 วัน
– กระทงที่ทำจากต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าว ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 14 วัน
– กระทงที่ทำจากกระดาษ ใช้เวลาย่อยสลายประมาณ 2 – 5 เดือน
– กระทงที่ทำจากโฟม ใช้เวลาย่อยสลายมากกว่า 50 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
รู้หรือไม่ วันลอยกระทง 2564 ห้ามจุดพลุ เล่นประทัด ปล่อยโคม ไม่งั้นเจอโทษหนัก
เช็กวันหยุดราชการกรณีพิเศษ ปี 2565 ชี้เป้าสัปดาห์หยุดยาวแบบสะใจ
กรมอนามัย เผย 10 วิธี เข้มมาตรการ ลอยกระทงให้ปลอดภัยจากโควิด
แม้ว่าเราจะเปลี่ยนมาใช้กระทงที่ย่อยสลายได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น แต่การลอยกระทงในปริมาณมากๆ ก็อาจทำให้เกิดน้ำเน่าได้ ยิ่งถ้าเป็นการลอยในแหล่งน้ำแบบปิด เมื่อขนมปังยุ่ย จะทำให้น้ำมีค่าบีโอดี (Biochemical Oxygen Demand, BOD) หรือ ค่าสารอินทรีย์สูง ซึ่งหากปริมาณของสารพวกนี้ไม่มาก ก็ไม่ค่อยส่งผลเสียเท่าไหร่ แต่หากมากเกินไปก็จะทำให้แหล่งน้ำนั้นเน่าเสียได้ นี่ยังไม่นับผลกระทบที่จะเกิดกับธรรมชาติ สัตว์น้ำ ที่อาจทั้งกินเอาขยะเข้าไป หรือก็ต้องอาศัยอยู่ในน้ำที่เริ่มเน่า รวมถึงวัสดุอุปกรณ์บางอย่างในการทำกระทงเช่น ตะปู ลูกแม็กที่ใช้เย็บใบตอง ที่ไม่อาจย่อยสลายได้
ด้านศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานคร เปิดเผยสถิติของการลอยกระทงในแต่ละปีว่า หลังเทศกาลลอยกระทง ตั้งแต่ปี 2555-2563 พบว่า ช่วง 7 ปีแรก (2555-2561) มีปริมาณกระทงที่เก็บได้มากถึงปีละ 800,000-900,000 ชิ้น เป็นกระทงที่ทำจากโฟมตั้งแต่ 40,000-131,000 ชิ้น แต่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น วัดได้จากกระทงที่ทำจากโฟมลดลงเหลือไม่ถึง 20,000 ใบ
สถิติ "ขยะจากกระทง" ย้อนหลัง 9 ปี
– ปี 2555 เก็บกระทงได้ 916,354 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 131,338 ใบ
– ปี 2556 เก็บกระทงได้ 865,415 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 107,848 ใบ
– ปี 2557 เก็บกระทงได้ 982,064 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 96,069 ใบ
– ปี 2558 เก็บกระทงได้ 825,614 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 71,027 ใบ
– ปี 2559 เก็บกระทงได้ 661,935 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 44,034 ใบ
– ปี 2560 เก็บกระทงได้ 811,945 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 51,926 ใบ
– ปี 2561 เก็บกระทงได้ 841,327 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 44,883 ใบ
– ปี 2562 เก็บกระทงได้ 502,024 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 18,760 ใบ
– ปี 2563 เก็บกระทงได้ 492,537 ใบ เป็นกระทงทำจากโฟม 17,731 ใบ
บทสรุป
แม้ว่าประเพณีลอยกระทง จะเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาล แต่ยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เราทุกคนควรมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อาจจะหันมาใช้หลักการ 1 กระทง ต่อ 1 ครอบครัว / 1 หน่วยงาน หรืออาจจะลดขนาดของกระทงให้เล็กลง แต่สำหรับยุคนี้ที่สถานการณ์โรคโควิด-19 เป็นปัจจัยในการออกมาใช้ชีวิตในสังคม เราก็สามารถหันมา คือ “ลอยกระทงออนไลน์” ได้ง่ายๆ นอกจากจะอินเทรนด์ ปลอดโรค ปลอดภัย และยังเป็นการช่วยแหล่งน้ำแบบยั่งยืนอีกด้วย