เพจชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความระบุว่าปัญหาคาใจ บทบาทของ อย. จากกรณีผลตรวจคาดเคลื่อน ของชุดตรวจ ATK ผลบวกลวง ชี้ แม้ชุดตรวจที่ได้รับการรับรองจาก อย. ผ่านการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ แต่บางยี่ห้อกลับพบว่า สหรัฐ-ยุโรป ยังไม่รับรอง แต่ยังสามารถจำหน่ายได้ในไทย
กรณีพบผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ของครูและนักเรียนโรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรพ์ จ.มุกดาหาร ที่ให้ผลบวกลวง โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ได้ตรวจสอบพบว่า ชุดตรวจ ATK ที่โรงเรียนใช้ คือ ยี่ห้อ Dvot SARS-CoV-2 Antigen test Kit เป็นชุดตรวจที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. โดยทางโรงเรียนได้รับบริจาคมา พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ชุดตรวจทุกรายการที่สามารถนำมาใช้ได้ ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. ก่อนเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย.เผย ATK ผลบวกลวง รร.คำสร้อยพิทยาสรรพ์ ได้จากการบริจาค ไม่ผ่านการอนุญาต
ชมรมแพทย์ชนบทเตือน โควิดขาขึ้นชัดเจน คนผ่อนคลาย ผุดคลัสเตอร์เพียบ
นพ.สุภัทร โพสต์ งานนี้มีใบสั่งเอาคืน ปมย้าย นพ.เกรียงศักดิ์ แม่ทัพศึกATK
ล่าสุด 7 พ.ย.64 เพจชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความระบุว่าปัญหาคาใจของสังคมไทย เมื่อมีประเด็น ผลการตรวจโควิด19 ด้วยชุดตรวจ ATK คลาดเคลื่อนอย่างมาก ทั้ง ผลบวกลวง หรือ ผลลบลวง คำตอบที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มักจะมี 2 แนวทางเสมอ
1.ถ้าชุดตรวจที่นำมาใช้ ผ่าน อย.คำตอบที่ได้คือ อาจเกิดจากการจัดเก็บไม่ดี ตรวจไม่ถูกวิธี หรือทิ้งผลตรวจไว้นาน
2.ถ้าชุดตรวจที่นำมาใช้ไม่ผ่าน อย.คำตอบที่ได้คือตรวจสอบแล้วเป็นชุดตรวจที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย.ขอให้ใช้ชุดตรวจที่ผ่านการอนุญาตแล้วเท่านั้น
แต่ในข้อเท็จจริงพบว่า แม้ชุดตรวจ ที่ได้รับการรับรองจาก อย. ผ่านการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เมื่อนำมาใช้ในการตรวจภาคสนามกับ ผู้ป่วย จริงๆ กลับพบว่าบางยี่ห้อ มีความคลาดเคลื่อนอย่างมาก อีกทั้งมีชุดตรวจหลายรายการ มีข้อมูลยืนยัน ทั้งFDA สหรัฐอเมริกา หรือ สหภาพยุโรป ถอดถอนหรือไม่รับรอง ยังสามารถจำหน่ายในไทยได้ โดยไม่มีมาตรการใดๆที่ชัดเจน จาก อย.ในการคุ้มครองผู้บริโภค
อย.บทบาทหน้าที่เป็นอย่างไร?
1.ดำเนินการตามกฏหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อยู่ในความรับผิดชอบ
2.กำกับดูแลผลิตภัณฑ์ก่อนออกสู่ตลาด
3.ส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ผู้ประกอบการ
4.ตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ตลาดและการโฆษณาผลิตภัณฑ์
5.เฝ้าระวังปัญหาหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้น
6.ส่งเสริมผู้บริโภคให้มีความรู้และศักยภาพในการเลือกผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างปลอดภัย คุ้มค่า
7.ส่งเสริมการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และเครือข่าย