ชมรมแพทย์ชนบท ยื่นจดหมายถึง 6 องค์กร เร่งตรวจสอบการจัดซื้อ ชุดตรวจ ATK8.5 ล้านชุด ของอภ.อาจเข้าข่ายส่อทุจริต
วันนี้ 6 ก.ย.2564 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา และประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้ส่งจดหมายด่วน ถึง 6 องค์กร ได้แก่ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี อธิบดีกรมการแพทย์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน อธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีส่อทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้นขององค์การเภสัชกรรม พร้อมแนบเอกสารหลักฐานการยื่นประมูล และสำเนาข้อสังเกต 7 ประเด็นจากการทำสัญญาจัดซื้อ ATK ของ อภ.อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิกให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เช็กเลย! กทม.เปิด 9 จุดตรวจโควิด-19 ด้วย ATK รู้ผลใน 30 นาที วันละ 1,500 คน
นายกฯ กำชับ ความพร้อม ก่อนแจก ATK ฟรี 8.5 ล้านชุด ขอ ปชช. งดเดินทางโดยไม่จำเป็น
ผู้ชนะการประมูล จัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ชี้แจง กรณีถูกตั้งข้อสงสัย ส่อทุจริต
ทั้งนี้ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า นานแล้วที่ผมไม่ค่อยส่งจดหมายปิดผนึกถึงใครต่อใคร เขียนแต่จดหมายเปิดผนึกให้ประชาชนที่สนใจ ได้อ่าน ก่อนที่ผู้รับจดหมายตัวจริงจะได้อ่าน สาระในจดหมาย 6 ฉบับนี้ ก็ไม่มีอะไรมาก ตรงไปตรงมา ในเรื่องการประมูล ATK 8.5 ล้านชิ้น ว่า ทำไมออสแลนด์ยื่นซอง แต่อีกบริษัทมาเซ็นต์สัญญา มันผิดปกติ เลยขอให้ทั้ง 6 องค์กร ช่วยตรวจสอบให้ชัดเจน
ข้อเท็จจริงในจดหมายประมาณว่า ครั้งนี้เป็นการเปิดประมูลโดยวิธีคัดเลือก หมายความว่า บริษัทที่ได้รับเชิญเท่านั้น จึงยื่นประมูลได้ และออสท์แลนด์คือหนึ่งใน 24 บริษัทที่ได้ซอง และมายื่นประมูล เมื่อชนะการประมูลก็ยังเป็นออสท์แลนด์อยู่ แต่เราก็รู้ว่า มีอีกบริษัท ชื่อเวิลด์เมิคอลอัลไลแอนซ์ มาเป็นนายทุนให้ และได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้แทนจำหน่าย พอวันเซ็นต์สัญญา 30 สิงหาคม 2564 กลายเป็นว่า เวิลด์เมดิคอลมาลงนามในสัญญาเฉยเลย ออสท์แลนด์หายไปแล้ว ต่อมาอีก 3 วัน องค์การเภสัชฯ ก็ออกมาชี้แจงว่า คนที่มียื่นซองประมูล และชนะประมูลคือ เวิลด์เมดิคอล ไม่ใช่ออสแลนด์ เขามายื่นในนามตัวแทนจำหน่ายของออสท์แลนด์ จึงมีสิทธิลงนามในสัญญา แต่ที่ผ่านมารูปลักษณ์ และสภาพต่าง ๆ นั้น กลับตรงกันข้าม จึงสมควรให้มีการรีบตรวจสอบให้ชัดเจน
วันอาทิตย์สุดสัปดาห์หมดไปกับจดหมายทีเดียว 6 ฉบับ ส่วนวันนี้ส่ง EMS แบบลงทะเบียนตอบรับไปเรียบร้อยแต่เช้าแล้ว
ด้วยการจัดซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุด โดยองค์การเภสัชกรรม มีข้อสังเกตที่ส่อไปในทางการดำเนินการที่ส่อทุจริต เนื่องจากบริษัทที่ยื่นประมูลและชนะการประมูลคือ บริษัท ออสท์แลนด์แคปปิตอล จำกัด แต่วันลงนามในสัญญากลับลงนามโดย บริษัท เวิลด์เมดิคอลอัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งผิดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ทั้งนี้ข้อเท็จจริงที่สำคัญมีดังนี้
1.ระเบียบฯ ข้อ 74 กำหนดว่า ให้คณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีคัดเลือกจัดทำหนังสือเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไม่น้อยกว่า 3 ราย ให้เข้ายื่นข้อเสนอ และ เมื่อถึงกำหนดวันเวลาการรับซองข้อเสนอให้รับซองข้อเสนอของผู้ยื่นข้อเสนอเฉพาะรายที่คณะกรรมการได้มีหนังสือเชิญชวนเท่านั้น มีความชัดเจนว่า อภ.ได้แถลงว่าได้ส่งหนังสือเชิญไปยังผู้ประกอบการทั้งสิ้น 24 บริษัท โดยเป็นผู้จัดจำหน่ายจำนวน 19 บริษัท หลังการมีการตรวจสอบคุณภาพ พบว่ามีผู้สามารถเปิดซองแข่งขันได้ 16 บริษัท และมีการเปิดซองต่อผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด มีการบันทึกวิดิทัศน์ไว้ทั้งหมดตั้งแต่การยื่นซองจนเปิดซอง ทั้งนี้หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับเชิญให้ไปยื่นซองคือ บริษัท ออสท์แลนด์แคปปิตอล จำกัด โดยรายชื่อ 24 รายชื่อที่ทาง อภ.เชิญ บริษัท เวิลด์เมดิคอลอัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมการยื่นซองด้วย
2.เมื่อมีการเปิดซองการประมูล อภ.ประกาศชัดเจนว่า ผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ซึ่ง
ก็คือผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ออสท์แลนด์แคปปิตอล จำกัด อีกทั้งสาธารณะและสื่อมวลชนที่ตามข่าวต่างก็รับรู้ว่า บริษัท ออสท์แลนด์แคปปิตอล จำกัด คือ ผู้ชนะการประมูล โดยมีบริษัท เวิลด์เมดิคอลอัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายและเป็นผู้ลงทุนให้ แต่ไม่ปรากฎข่าวว่าเป็นผู้ยื่นซองประมูลแต่อย่างใด
3.ต่อมาในวันที่ 30 ส.ค.2564 อภ.ลงนามสัญญากับ บริษัท เวิลด์เมดิคอลอัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ท่ามกลางข้อครหาว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในภายหลัง คือในวันที่ 2 ก.ย.2564 ทาง อภ.จึงได้มีการชี้แจงว่า บริษัทเวิลด์ เมดิคอลอัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ยื่นซองราคาชุดตรวจ ATK โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการจาก บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลที่ปรากฎต่อสาธารณะในช่วงเวลาก่อนหน้านี้
4.ภาพถ่าย 4 ภาพในห้องที่ทำการเปิดซองประมูล ได้แสดงกระดานเขียนผลการประมูล ซึ่งชัดเจนว่าลำดับที่ 11 คือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เมื่อเทียบเคียงกับลำดับที่ 9 คือ DKSH และ ลำดับที่ 10 ดีซีเอชออริก้า ทั้งคู่เป็นผู้แทนจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ Roche และ Abbott ตามลำดับ แล้วบนกระดานไม่ได้เขียนชื่อบริษัท Roche หรือ Abbott ก็เพราะเจ้าหน้าที่เขียนชื่อผู้ที่มายื่นซองตามที่ได้รับเชิญตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ซึ่งคือ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ไม่ใช่ บริษัท เวิลด์เมดิคอลอัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มากล่าวอ้างในภายหลัง
ข้อเท็จจริงทั้ง 4 ประการนั้น ประกอบข้อสังเกตของ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก ต้องการการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ว่า การจัดซื้อจัดจ้าง ATK 8.5 ล้านชุดในครั้งนี้ มีการลงนามในสัญญาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือมีการกระทำที่ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่
ชมรมแพทย์ชนบทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง 6 หน่วยงานข้างต้น จะเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน หากมีข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่ามีการทุจริต หรือมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนอย่างผิดกฎหมาย ขอให้สั่งยุติกระบวนการต่างๆ ในทันที เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และประชาชนให้น้อยที่สุด และดำเนินการทางคดีให้ถึงที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป