svasdssvasds

"หมอมนูญ" ห่วงตรวจโควิด เจอผลบวกปลอม แนะตรวจสอบให้ชัวร์ อย่ารีบด่วนสรุป

"หมอมนูญ" ห่วงตรวจโควิด เจอผลบวกปลอม แนะตรวจสอบให้ชัวร์ อย่ารีบด่วนสรุป

"หมอมนูญ" ชี้ ตรวจโควิด อาจเจอ ผลบวกปลอม ได้ ห่วงทำคนที่ไม่ติดเชื้อได้รับผลเสียหลายอย่าง พร้อมแนะวิธีเช็คให้ชัวร์ หากเข้าข่ายขออย่าเพิ่งรีบด่วนสรุป

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ประเด็นการ "ตรวจโควิด" ว่า การตรวจวินิจฉัยโรค "โควิด-19" ทำได้ 2 วิธี 

 วิธีแรกใช้ชุดตรวจโควิดแบบรวดเร็ว antigen test kit หรือ ATK อ่านผลได้เร็วภายใน 15 นาที มีความไว และความจำเพาะที่ต่ำ หากตรวจได้ผลบวก ต้องยืนยันด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR

 SARS-CoV-2 RT-PCR เป็นวิธีมาตรฐาน เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะสูง อย่างไรก็ดีแม้วิธีนี้จะมีความไวสูง อาจเกิดผลลบปลอมได้ และแม้จะมีความจำเพาะสูง ก็ยังอาจเกิดการปนเปื้อนที่เป็นสาเหตุของการตรวจโควิดเกิดผลบวกปลอมได้

 ผมจะขอพูดถึงการตรวจโควิดเรื่องผลบวกปลอมของวิธีตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR ความแม่นยำของวิธีตรวจรหัสพันธุกรรมขึ้นกับความไว คือตรวจคนติดเชื้อทุกคน ต้องให้ผลบวกทุกคน และความจำเพาะ ตรวจคนไม่ติดเชื้อทุกคน ต้องให้ผลลบทุกคน ต้องยอมรับว่าไม่มีการตรวจวิธีไหนให้ผล perfect ถูกต้อง 100 % ในชีวิตจริงการตรวจผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ถ้าความไวอย่างน้อย 95% และความจำเพาะอย่างน้อย 98% จะเห็นว่าผลการตรวจมีโอกาสที่จะให้ผลบวกปลอม 2% หรือมากกว่านั้น คือคนที่ไม่ติดเชื้อ ผลตรวจออกมาเป็นบวก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• หมอมนูญ เผย อนาคตโควิดจะเป็นไข้หวัดธรรมดา แม้ติดเชื้อแต่อาการจะไม่รุนแรง

• หมอมนูญ ชี้ "โมลนูพิราเวียร์" ยาบรรเทาไวรัส จะเปลี่ยนเกมรักษาโควิด-19 ในไทย

• หมอมนูญเสนอ วิธีทำให้โควิด-เดลต้าหยุดแพร่เชื้อ

 ผลเสียของการรายงานการตรวจโควิดเป็นผลบวกปลอม ทำให้คนที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกกักตัว อาจถูกรับเข้ารักษาในวอร์ดผู้ป่วยโควิด ได้รับยารักษาโรคโควิดโดยไม่จำเป็น สร้างความเครียด ความวิตกกังวลให้กับผู้ป่วยและคนในครอบครัว ต้องสูญเสียรายได้ เสียทรัพยากรและเพิ่มงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยไม่จำเป็น เพิ่มสถิติของคนติดเชื้อและอื่นๆ

 การป้องกันการรายงานการตรวจโควิดเป็นผลบวกปลอม ต้องอาศัยทั้งห้องปฏิบัติการและแพทย์เจ้าของไข้ ถ้าคนไข้ไม่มีอาการของโรคโควิด คนในครอบครัวและที่ทำงานไม่มีใครติดเชื้อไวรัสโควิด สาเหตุที่ตรวจหารหัสพันธุกรรม ไม่ใช่เพราะสงสัยว่าติดเชื้อ แต่ตรวจเพื่อคัดกรอง เช่นก่อนจะเข้ารับการทำหัตถการในโรงพยาบาล และผลการตรวจ พบปริมาณเชื้อไวรัสน้อยมากโดยดูจากค่า cycle threshold ถ้าทุกอย่างเข้าข่ายนี้ แพทย์อย่าด่วนสรุปว่าติดเชื้อ ขอให้ตรวจหารหัสพันธุกรรมซ้ำใน 24 ชั่วโมง ถ้าผลออกมาลบ ขอให้ทำซ้ำอีก 1 ครั้ง ถ้าผลออกมาลบ 2 ครั้ง ยืนยันได้ว่าผลบวกครั้งแรกเป็นผลบวกปลอม

 ผู้ป่วยอายุ 80 ปี เตรียมจะทำผ่าตัดตา เข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ผลออกมาเป็นบวก ค่า cycle threshold 28.8 ค่าตัดว่าลบ cut off อยู่ที่ 31.5 เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีอาการ ไม่มีใครในบ้านป่วย ตรวจรหัสพันธุกรรมทุกคนในบ้านให้ผลลบ แพทย์สงสัยอาจเป็นผลบวกปลอม จึงทำการตรวจรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยซ้ำอีก 2 ครั้งใน 24 ชั่วโมงต่อมา ผลออกมาเป็นลบ ยืนยันได้ว่าผลตรวจครั้งแรกเป็นผลบวกปลอม

related