รพ.เด็ก ออกแถลงการณ์ แจงอาการเด็กหญิง 12 ขวบ ลิ่มเลือดอุดตัน พ้นวิกฤติแล้ว ย้ายไปดูแลในหอผู้ป่วยเด็ก เหนื่อยหอบลดลง กินข้าวได้ ยันไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
จากกรณีนักเรียนหญิง ป.6 อายุ 12 ปี อ.โพธาราม ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก ที่โรงพยาบาลไม่ถึง 7 วัน กลับมีอาการไอแห้ง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เล็บมือและปากเขียว จนทรุดหนักต้องเข้าไอซียู โดยทางครอบครัวได้ส่งผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตัวที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ในวันอังคารที่ 26 ต.ค. 2564
สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ออกแถลงการณ์ เรื่อง ผู้ป่วยเด็กหญิงอายุ 12 ปี 3 เดือน มีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด สืบเนื่องจากผู้ป่วยเด็กหญิงไทย อายุ 12 ปี 3 เดือน ได้รับการส่งตัวจาก รพ.ราชบุรี เมื่อวันอังคารที่ 26 ต.ค.2564 ด้วยเรื่องไอ เจ็บกลางหน้าอกเมื่อวันที่ 24 ต.ค.2564 วันต่อมามีอาการไอมากขึ้น แน่นหน้าอก หอบเหนื่อย ตัวเขียว ได้เข้ารับการรักษาที่ รพ.ราชบุรี ในวันที่ 25 ต.ค.2564 ได้รับการรักษาโดยการให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง ให้ยาปฏิชีวนะ ยาขับปัสสาวะ ต่อมาผู้ป่วยยังมีอาการหายใจเหนื่อย จึงใส่ท่อหายใจและส่งตัวผู้ป่วยมาตรวจรักษาต่อที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ในวันอังคารที่ 26 ต.ค. 2564
จากประวัติในอดีตที่สอบถามจากบิดา มารดา พบว่าผู้ป่วยมีภาวะหลังโก่งและคดสังเกตเห็นตั้งแต่อายุ 9 เดือนแต่ไม่เคยรักษาที่ใดมาก่อน และมีประวัติเหนื่อยง่ายตั้งแต่อายุ 2 ขวบ แต่ไม่เคยพบแพทย์มาก่อน
จากการตรวจร่างกายที่สถาบันฯ พบว่า เด็กตัวเล็กและเตี้ยกว่าเกณฑ์มาก มีหลังคดโก่งรุนแรงและมีนิ้วปุ้มซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะขาดออกซิเจนเรื้อรัง ความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายอาจทำให้ผู้ป่วยมีภาวะปอดขยายตัวไม่เต็มที่และมีพังผืดในปอดได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "โมเดอร์นา" แจง เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ ใน mRNA แต่มีโอกาสน้อย
• หมอธีระวัฒน์ เผยสถิติเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีด ไฟเซอร์ โมเดอร์นา
• "หมอยง" เผยวัคซีน mRNA เสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบมากในเด็ก-เพศชาย
ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต (PICU) สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระหว่างวันที่ 26-31 ต.ค.2564 ได้รักษาโดยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ดูแลทางเดินหายใจโดยขณะนี้สามารถถอดท่อทางเดินหายใจและเปลี่ยนมาให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง ได้ตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูงและเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจอีกครั้งในวันที่ 29 ต.ค. 2564 พบว่าก้อนลิ่มเลือดที่อุดตันมีขนาดเล็กลง เลือดไหลเวียนไปสู่ปอดได้ดีขึ้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจดี
เมื่ออาการดีขึ้น ได้ย้ายผู้ป่วยเข้าดูแลในหอผู้ป่วยเด็กเฉพาะโรคในวันที่ 1 พ.ย.2564 ผู้ป่วยหอบเหนื่อยลดลง สามารถรับประทานอาหารได้
ทีมกุมารแพทย์หลากหลายสาขาของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ทั้งด้านโรคหัวใจ โรคปอด โลหิตวิทยา โรคภูมิคุ้มกันได้ร่วมกันดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างเต็มที่เพื่อหาสาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดปอด ทั้งนี้ขอแจ้งให้ทราบว่าอาการของผู้ป่วยรายนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
ขอขอบพระคุณทุกท่านในความห่วงใยสุขภาพเด็ก ทางทีมแพทย์ของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีจะให้การดูแลรักษาเด็กต่อเนื่องต่อไป