svasdssvasds

ปลื้ม แชมป์เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ เอเชียของ NASA เป็นของเด็กไทย

ปลื้ม แชมป์เขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ เอเชียของ NASA เป็นของเด็กไทย

3 เยาวชนไทยแสดงฝีมือคว้าแชมป์เอเชีย การเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ ของ NASA ประกาศศักดาให้โลกรู้ โดย 3 เยาวชนดังกล่าวเป็นสมาชิกในทีม อินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี นั่นเอง

สามเยาวชนไทยดังกล่าว ซึ่งเป็นสมาชิกของทีม อินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ได้เข้าร่วมการแข่งขันเขียนโปรแกรมการควบคุมหุ่นยนต์ของ NASA ระดับเอเชีย ร่วมกับเยาวชนจากประเทศอื่นอีก 9 ชาติ ผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 24  ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผลปรากฎว่าทีมเยาวชนจากประเทศไทย สามารถคว้าแชมป์ ได้รางวัลชนะเลิศ Best Achievement Onboard Award มาครองได้สำเร็จ ถือเป็นการแสดงความสามารถในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษา JAVA ควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ผู้ช่วยนักบินอวกาศของ NASA ที่อยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติให้เคลื่อนที่ไปอ่าน QR Code และยิงแสงเลเซอร์เข้าเป้าหมายทำคะแนนได้สูงสุดของการแข่งขัน คือ 28.86 pt (A Class) ส่วนทีมอันดับที่ 2 ได้แก่ ทีม Enigma Systems จากบังคลาเทศ ได้คะแนน 19.16 pt (A Class) และทีมอันดับที่ 3 ได้แก่ ทีม GeminiPYTW จากไต้หวัน (C Class)

การแข่งขันเขียนโปรแกรมการควบคุมหุ่นยนต์ของ NASA ระดับเอเชีย

สำหรับสมาชิกในทีม อินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ประกอบด้วย นายธฤต วิทย์วรสกุล ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 (หัวหน้าทีม) นายกรปภพ สิทธิฤทธิ์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และเด็กชายเสฎฐพันธ์ เหล่าอารีย์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นทีมชนะเลิศจากการแข่งขัน โครงการ The 2nd Kibo Robot Programming Challenge รอบชิงแชมป์ประเทศไทย และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชียผ่านทางออนไลน์ดังกล่าว

ทีม อินเดนเทชัน เออเร่อ (Indentation Error) จากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี

โดย นายธฤต วิทย์วรสกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ตัวแทนทีม Indentation Error กล่าวถึงความรู้สึกหลังทราบผลการแข่งขันว่า "รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก เพราะรู้สึกประหม่าไปเหมือนกัน เมื่อเห็นผลการรันโปรแกรมของทีมอื่นๆ ที่ออกมาดี สามารถควบคุมให้หุ่นยนต์ Astrobee เคลื่อนที่ไปอ่าน QR code และยิงเลเซอร์ไปยังเป้าหมายได้ ผมคิดว่าที่ทีมเราสามารถชนะเลิศได้เพราะสามารถบังคับหุ่นยนต์ Astrobee ให้เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าทำให้คะแนนออกมาดี ผมต้องขอขอบคุณ JAXA ที่จัดการแข่งขันนี้ขึ้นมา และขอบคุณ สวทช. ที่จัดการแข่งขันในประเทศไทยพร้อมทั้งสนับสนุนทีมเราเป็นอย่างดีในการมาร่วมแข่งขันรอบชิงแชมป์เอเชีย ทีมเราได้เรียนรู้หลายเรื่องในการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ Astrobee ที่ใช้งานบนสถานีอวกาศนานาชาติ และต้องขอขอบคุณทุกๆ คนที่มีส่วนผลักดันให้การแข่งขันครั้งนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปรับชมการแข่งขันออนไลน์ดังกล่าวได้ย้อนหลังที่ YOUTUBE  และสามารถติดตามความเคลื่อนไหวโครงการกิจกรรมวิทยาศาสตร์อวกาศสำหรับเยาวชน ได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/jaxa-thailand และแฟนเพจ NSTDA SPACE Education 

related