มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและเจ้าของเฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมขนาดใหญ่และได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ถูกอัยการสหรัฐฟ้อง ฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ และอาจถูกปรับเป็นจำนวนมหาศาล
เฟซบุ๊ก เครือข่ายโซเชียลมีเดียยอดนิยม ที่เกิดจากความคิดของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เมื่อปี 2003 เพื่อแลกเปลี่ยนภาพของนักศึกษาในมหาวิยาลัย และได้รับความนิยมในกลุ่มนักศึกษาทั่วสหรัฐ จนนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทในปีถัดมา จากแนวความคิดเรื่องการแลกเปลี่ยนภาพและเรื่องราวต่างๆในโลกอินเตอร์เน็ตที่ง่ายต่อการเข้าถึง ทำให้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี เฟซบุ๊ก ก็เป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก มีผู้ใช้งานกว่าพันล้านคน สร้างรายได้มหาศาล จนทำให้ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง ติดในรายชื่อมหาเศรษฐีโลก และนิตยสาร Times ได้คัดเลือกให้เป็นผู้ทรงอิทธิพลแห่งปี เมื่อ พ.ศ.2553 แต่แม้เฟซบุ๊ก จะเริ่มต้นด้วยแนวความคิดอยากเชื่อมโยงผู้คนในสังคมให้ใกล้ชิดกันผ่านเครือข่ายออนไลน์ แต่ก็ถูกวิจารณ์มาตลอดว่าได้ทำลายความสัมพันธ์ที่แท้จริงของคนในสังคม และต้องเผชิญปัญหาการถูกฟ้องร้องมาหลายครั้งจากรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ มีแต่มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เท่านั้น ที่ไม่เคยถูกฟ้องในฐานะบุคคลมาก่อน จนกระทั่งครั้งนี้ และถือว่าเป็นการเผชิญมรสุมลูกใหญ่อีกครั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“กดรายงาน ไม่แชร์ภาพ” แคมเปญต่อต้านการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็ก
เฟซบุ๊กล่ม พ่วง IG whatsapp Messenger 6 ชม. ถ้ามาล่มกลางวัน จะกระทบหนักแค่ไหน
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปัดข้อกล่าวหา Facebook ฟันกำไร ไม่สนความปลอดภัยผู้ใช้
เส้นทางวิบากของเฟซบุ๊ก
มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ได้ประกาศหลายครั้ง ว่าเฟซบุ๊ก ยึดมั่นในหลักการ Free Speech ที่ให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ประกอบกันขั้นตอนการเป็นสมาชิกเพื่อใช้งานก็ง่ายดาย เพียงแค่ใช้อีเมล์ในการสมัครและยืนยันว่ามีอายุเกิน 13 ปีก็สามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายได้แล้ว ทำให้มีผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อย ใช้บัญชีปลอมในการสมัครสมาชิก และใช้เฟซบุ๊ก เป็นเครื่องมือในการแสดงความคิดเห็นอย่างสุดโต่ง หรือละเมิดกฎหมายของหลายประเทศ จนถูกระงับการใช้งานในหลายประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ต้องถูกฟ้องร้องมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคประชาสังคม ก็วิจารณ์ว่า เครือข่ายสังคมของเฟซบุ๊ก เป็นการสร้างสังคมเสมือนและทำลายความสัมพันธ์ที่แท้จริงของคนในสังคม มีการละเมิดสิทธิ์ทางไซเบอร์โดยเฉพาะผู้ใช้งานกลุ่มเปราะบางเช่นเด็กและเยาวชน ขณะเดียวกัน การที่รายได้ของ เฟซบุ๊ก มาจากการโฆษณา ทำให้เฟซบุ๊ก ต้องการเข้าถึงและเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้งานเพื่อประโยชน์ด้านการตลาด จนทำให้ถูกระแวงเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวและการรักษาความปลอดภัยของการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว แม้ต้องเผชิญกับการฟ้องร้องในหลายประเทศ แต่เฟซบุ๊กก็สามารถประนีประนอมกับคู่กรณี และผ่านปัญหามาได้ตลอด โดยที่ มาร์ค ซัคเกอร์เบิกร์ก ไม่เคยถูกฟ้องในนามส่วนตัวมาก่อน
จุดเริ่มต้นของปัญหา
กรณีล่าสุด เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2018 เมื่อมีการเปิดเผยว่า มีการนำข้อมูลของผู้ใช้งานกว่า 50 ล้านบัญชี ไปขายให้กับ แคมบริดจ์แอนาลิตกา บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลด้านการเมือง ที่รับผิดชอบการรณรงค์หาเสียงของ อดีตประธานาธิบดี ทรัมป์ จนทำให้เฟซบุ๊ก ถูกวิจารณ์อย่างหนักเรื่องของการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน หลังการตรวจสอบข้อมูลเอกสารจำนวนมาก อัยการสหรัฐ ได้ตัดสินใจเพิ่มชื่อ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เป็นจำเลยร่วมกับบริษัทฐานละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน หลังพบว่า ซัคเกอร์เบิร์ก ซึ่งถือหุ้นในเฟซบุ๊ก กว่า 50% เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจด้านนโยบายและออกแบบบริการของบริษัทที่ทำให้เกิดประเด็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ซึ่งเป็นครั้งแรก ที่ซัคเกอร์เบิร์ก ถูกฟ้องร้องโดยตรง และหากศาลตัดสินว่ามีความผิด เฟซบุ๊ก ก็จะต้องจ่ายค่าปรับจำนวนมหาศาล รวมทั้งอาจต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับผู้ใช้แต่ละรายด้วย
เฟซบุ๊กจะไปทางไหนต่อในช่วงต้นเดือนตุลาคม
เฟซบุ๊ก เพิ่งเจอมรสุมลูกใหญ่ จากการชัตดาวน์ระบบกระทบผู้ใช้งานทั่วโลกหลายชั่วโมง จนส่งผลให้ราคาหุ้นของเฟซบุ๊ก ร่วงไปถึง 20% ข่าวการยื่นฟ้องซัคเกอร์เบิร์กในครั้งนี้ จึงเหมือนเป็นคลื่นลูกที่สอง ที่กำลังถาโถมเข้าใส่ยักษ์ใหณ่ด้านเครือข่ายโซเชียลมีเดียรายนี้ แม้ขั้นตอนการสอบสวนและต่อสู้คดี จะยังกินระยะเวลาอีกช่วงหนึ่ง แต่นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า เฟซบุ๊ก จะใช้วิธีการประนีประนอม เหมือนกับคดีอื่นๆก่อนหน้านี้ เพื่อยุติคดีความ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นและผู้ใช้งานไม่น้อย ในยุคที่ เฟซบุ๊ก กำลังถูกมองว่าเป็นเครือข่ายโซเชียลมีเดียของคนมีอายุ และไม่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่ แม้ เฟซบุ๊ก จะพยายามพลิกเกมด้วยการผลักดัน metaverse ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเสมือนจริงขึ้นมาแก้เกม ก็ต้องจับตาดูว่า จะได้รับความนิยมและสามารถสลัดภาพการละเมิดข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ยืนหยัดเป็นผู้นำในผู้ให้บริการเครือข่ายโซเชียลมีเดียต่อไปได้หรือไม่