การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสาน
วันที่ 26 ต.ค. 2564 การรถไฟแห่งประเทศไทย จัดการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) ต่อโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสาน ผ่านการประชุมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพัฒนาการบริหารที่ดินของการรถไฟฯ ให้เกิดความศักยภาพสูงสุด โดยมีนายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนา พร้อมด้วยผู้แทนจากองค์กรธุรกิจภาคเอกชน นักลงทุน และสื่อมวลชน เข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ไม่มีอีกแล้ว! เผยภาพล่าสุด "ตลาดคลองสาน พลาซ่า" ถูกทุบเตรียมส่งคืนการรถไฟฯ
ชาวเน็ตเดือด! กลุ่มผู้ค้าตั้งรถเข็นริมถนน นี่สถานีกลางหรือตลาดนัดบางซื่อ
การรถไฟฯ ชี้แจงกรณีเตรียมขนย้ายรถดีเซลรางจากประเทศญี่ปุ่น จำนวน 17 คัน
นายเอกฯ เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย มีแนวทางที่จะพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟฯ ซึ่งมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยพื้นที่ย่านตลาด
คลองสาน มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 5 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนเจริญนคร มีทำเลที่ตั้งและสภาพแวดล้อมเชื่อมต่อ
กับฝั่งพระนครด้วยท่าเรือข้ามฝากระหว่างท่าเรือคลองสานกับท่าเรือสี่พระยา เป็นพื้นที่ริมแม่น้ำที่มีศักยภาพสูงของริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ การรถไฟฯ ได้นำออกให้เช่าเป็นพื้นที่ตลาดคลองสานพลาซ่า และผู้เช่าจะคืนพื้นที่เช่าทั้งหมดพร้อมกับสัญญาเช่าท่าเรือคลองสาน ภายใน 31 ธันวาคม 2564 ดังนั้น
จึงได้ดำเนินการจ้างบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสาน โดยมีแนวทางในการพัฒนาดังนี้
แนวทางในการพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่โครงการตั้งอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพในการพัฒนาก่อสร้าง และใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งทางด้านพาณิชยกรรม หรือด้านอยู่อาศัย ที่ปรึกษาจึงได้ออกแบบแนวคิดเบื้องต้นในการพัฒนาโครงการ โดยวิเคราะห์โครงการเบื้องต้นพร้อมพิจารณากำหนดสมมติฐานการพัฒนาเป็นโครงการต่าง ๆ
ทั้งนี้แนวคิดการก่อสร้างจะอยู่ภายใต้ประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยผังเมืองรวม และข้อกำหนดกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีผลต่อการพัฒนาก่อสร้างใช้ประโยชน์ ซึ่งแนวทางการพัฒนาพื้นที่จะทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด แล้วพัฒนาเป็นโรงแรมระดับกลาง (Midscale) และพื้นที่รีเทล (ร้านค้า) ดังนี้
- โรงแรม สูง 8 ชั้น (มีชั้นใต้ดิน ส่วนกลาง และจอดรถยนต์) พื้นที่รวม 6,915 ตรม. จำนวน 1 อาคาร
- โรงแรม สูง 8 ชั้น (มีชั้นใต้ดิน ส่วนกลาง และจอดรถยนต์) พื้นที่รวม 9,985 ตรม. จำนวน 1 อาคาร
- รีเทล (ร้านค้า) สูง 3 ชั้น (พื้นที่ค้าปลีก) พื้นที่รวม 915 ตรม. จำนวน 1 อาคาร
- รีเทล (ร้านค้า) สูง 3 ชั้น (พื้นที่ค้าปลีก พร้อมที่จอดรถ) พื้นที่รวม 1,432 ตรม. จำนวน 1 อาคาร
- รีเทล (ร้านค้าและร้านอาหาร) ด้านหลังโครงการ สูง 5 ชั้น พื้นที่รวม 2,000 ตรม. จำนวน 1 อาคาร
- ลานกิจกรรม ขนาด 14.00 x 28.50 เมตร พื้นที่รวม 400 ตารางเมตร
นอกจากนี้ ได้ออกแบบเส้นทางการจราจรและระบบการขนส่งภายในอาคาร ได้แก่ การจัดให้มีทางเข้า – ออก บริเวณถนนเจริญนคร การจัดระบบจราจรบนถนนแบบเดินรถสองทาง ขนาดความกว้าง 6 เมตร การจัดให้มีทางเดินเท้ากว้าง 1 เมตร ทั้งนี้ จะเป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ในรูปแบบการก่อสร้างอาคารโรงแรมและพื้นทีรีเทล ระยะเวลา 30 ปี มูลค่าลงทุนการก่อสร้างและพัฒนาโครงการ 839 ล้านบาท ผลตอบแทนโครงการ 13.49% ผลตอบแทนที่การรถไฟฯ จะได้รับประมาณ 325 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุน 10 ปี ด้วยวิธีการเปิดประมูลเสนอราคาตามระเบียบการรถไฟฯ โดยไม่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เนื่องจากไม่เกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อการบริการสาธารณะ โดยปี 2565 การรถไฟฯ จะส่งมอบโครงการฯ ให้กับบริษัท เอสอาร์ที เอสเสท จำกัด (บริษัทลูกของการรถไฟฯ ในการบริหารสินทรัพย์) รับไปดำเนินการการเปิดประมูลหาเอกชนดำเนินการ ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในปี พ.ศ. 2565 และดำเนินการก่อสร้างโครงการในปี พ.ศ. 2566
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสานครั้งนี้ เป็นเพียงรูปแบบ
แนวทางการพัฒนาพื้นที่เท่านั้น เอกชนที่จะเข้ามาดำเนินการสามารถปรับเปลี่ยนการพัฒนาในรูปแบบอื่นหรือประเภทอื่นที่มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดได้
การรถไฟแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาพื้นที่การรถไฟฯ การเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการศึกษาและวิเคราะห์โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณตลาดคลองสาน เพื่อนำเสนอข้อมูลรายละเอียดของการศึกษาโครงการของหน่วยงานธุรกิจภาคเอกชน และทุกภาคส่วน นำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด.โดยมุ่งหวังว่าข้อเสนอแนะและความคิดเห็นต่าง ๆ ที่ได้รับจากการจัดประชุมสัมมนาจะช่วยให้รายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการมีความสมบูรณ์และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น