svasdssvasds

"เสรี ศุภราทิตย์" ห่วงน้ำท่วมซ้ำซ้อนวิกฤตโควิด19

"เสรี ศุภราทิตย์" ห่วงน้ำท่วมซ้ำซ้อนวิกฤตโควิด19

"อ.เสรี" ห่วงน้ำท่วมซ้ำซ้อนวิกฤตโควิด19 เผย IPCC ส่งสัญญาณเตือนสีแดง ไทยมีฝนเพิ่ม 2-3 เท่า ส่งผลน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ พ่วงน้ำทะเลหนุนสูง โอกาสซ้ำรอยมหาอุทกภัยเหมือนปี 54 แม้มีแค่ 10% แต่ไม่ควรประมาท

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ภาคีเครือข่ายนักวิชาการบูรณาการงานภัยพิบัติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนในหลายพื้นที่ สิ่งที่คนส่วนใหญ่กังวลมากที่สุดคือ จะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 หรือไม่ ซึ่งจากการคาดการณ์โอกาสที่จะเกิดมีน้อยกว่า 10% และปริมาณฝนในภาคเหนือน้อยกว่าปี 2554 ถึงเกือบ 40% ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นมหาอุทกภัยปี 2554 แต่ก็ไม่อยากให้ประมาท

ควรมีการเตรียมพร้อมตั้งรับอยู่เสมอ เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงหลายแห่ง โดยภาคใต้เป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ ซึ่งในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่ขึ้นหลายครั้ง และยิ่งในสถานการณ์วิกฤตโควิด19 ยิ่งต้องจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากไม่มีมาตรการรองรับอย่างรอบด้าน อาจเกิดวิกฤตภัยพิบัติซ้ำซ้อนทั้งโควิด19 ระบาดและน้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"ประเทศไทยเป็นแหล่งเกษตรกรรม หากเกิดวิกฤตความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ จะส่งผลกระทบอย่างหนัก รัฐบาลต้องประเมินสถานการณ์และประเมินศักยภาพในการรับมือ ซึ่งมีหลายพื้นที่ยังไม่มีแผนรับมือรองรับ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ จึงทำให้เกิดความกังวลในการรับมือ หากเกิดน้ำท่วมเฉียบพลัน บวกกับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด19 จึงจำเป็นต้องเร่งคัดแยกผู้ป่วยในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้การเข้าไปช่วยเหลือประชาชนสามารถทำได้อย่างปลอดภัย เตรียมพร้อมจัดตั้งศูนย์อพยพหนีภัยในพื้นที่ที่เหมาะสม ต้องไม่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะอาจทำให้เกิดความเสี่ยงซับซ้อนขึ้นได้ นอกจากนี้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นพื้นที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษด้วย เช่น นิคมอุตสาหกรรมบางปู ที่เคยเกิดน้ำท่วมติดต่อหลายวัน" รศ.ดร.เสรี กล่าว

รศ.ดร.เสรี กล่าวต่อว่า ทางคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้ส่งสัญญาณเตือนสีแดง 3 สัญญาณ ที่ไทยต้องเฝ้าระวัง คือ

  1. ในช่วงฤดูมรสุม ประเทศไทยจะมีปริมาณน้ำฝนในประเทศเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า ส่งผลให้เกิดอุทกภัยและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ต้องดูว่า พื้นที่ใดบ้างที่เสี่ยงต่อฝนตกหนักและจะแก้ปัญหาอย่างไร
  2. ในช่วงหน้าแล้ง อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้น้ำที่กักเก็บไว้ระเหยออกหมด ส่งผลให้ไม่มีน้ำในการทำการเกษตร โดยเฉพาะการทำข้าวนาปรัง 6 เดือนในช่วงหน้าแล้งจะทำอย่างไร ต้องเตรียมความพร้อมแก้ปัญหาดังกล่าว
  3. ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นบริเวณปากอ่าวไทย จะทำให้ กรุงเทพฯ และปริมณฑล จะจมน้ำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยยังคาดการณ์ว่า อีก 10 ปีข้างหน้า น้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30-40 ซม. อีก 30 ปีข้างหน้า จะสูงประมาณ 50-60 ซม. และอีก 80 ปีข้างหน้า จะสูงขึ้น 1.50 เมตร จึงต้องมีความพร้อมในการป้องกันเช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ได้จัดทำคันกั้นน้ำล้อมประเทศเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายทางด้านสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการวางแผนการทำงาน

ดร.แมน ปุโรทกานนท์ เลขานุการมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายบูรณาการงานภัยพิบัติ สสส.

ด้าน ดร.แมน ปุโรทกานนท์ เลขานุการมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ภาคีเครือข่ายบูรณาการงานภัยพิบัติ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันด้วยสภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว เป็นตัวบ่งชี้อย่างดีในการพิจารณาว่ามีการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ร้อนจัด หนาวจัด ลมพายุที่รุนแรง ฝนตกหนัก เกินกว่าปกติ ส่งผลให้สภาพอากาศไม่แน่นอน การประเมินภัยพิบัติทำได้ยาก ดังนั้นการประสานความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างองค์กรภาครัฐขนาดใหญ่ และเครือข่ายด่านหน้าในการจัดการภัยพิบัติระดับชุมชน ต้องบูรณาการประสานการทำงานร่วมกันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้เครือข่ายชุมชม ต้องมีการประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ของตนเอง เช่น เป็นพื้นที่เสี่ยงลุ่มน้ำหรือไม่ น้ำมาจากพื้นที่ใด เป็นต้น

"สิ่งสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ คือ ชุมชนและหน่วยงานราชการต้องประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน ที่ผ่านมาเครือข่ายชุมชม มีการทำแผนที่ทำมือ เพื่อศึกษาเส้นทางน้ำในพื้นที่ ควบคู่กับการศึกษาแผนที่ราชการ เพื่อสำรวจพื้นที่เสี่ยงเปราะบาง และระบุพิกัดจุดเสี่ยง เมื่อเกิดอุทกภัยจะประสานกับองค์กรปกครองท้องถิ่น และหน่วยราชการ ในการช่วยเหลือชาวบ้านได้อย่างปลอดภัยและทันท่วงที" ดร.แมน กล่าว

related