หมอยง ชี้ ภูมิคุ้มกันหมู่ ใช้ไม่ได้กับโควิด-19 ถ้ามีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อ อาการจะลดน้อยลงหรือไม่มีอาการ
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ประเด็น โควิด 19 ความหวังภูมิคุ้มกันหมู่ herd immunity ใน โรคโควิด 19 โดยระบุว่า
ภูมิคุ้มกันหมู่ หมายถึง เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานต่อโรคติดเชื้อ จะช่วยลดการระบาด และ ปกป้องผู้ที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน ไม่ให้เกิดการติดเชื้อได้ เช่น โรคหัด ถ้าประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทาน ไม่ว่าจะจากการฉีดวัคซีน หรือการติดเชื้อ เป็นหัดแล้ว ประชากรส่วนน้อยได้รับประโยชน์ถูกปกป้องไปด้วย ไม่ให้เกิดการระบาดของโรค แต่ภูมิคุ้มกันหมู่ไม่สามารถใช้ได้กับโรค บางโรคที่เป็นเฉพาะบุคคล เช่น บาดทะยัก ต่อให้เราฉีดวัคซีนบาดทะยักมากแค่ไหน คนที่ไม่ได้ฉีดถ้าไปโดนตะปูตำ คนอื่นที่ฉีดวัคซีนแล้วจำนวนมาก ก็ไม่สามารถจะมาปกป้องเราได้
ความหวังให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ สำหรับโรคโควิด 19 ในระยะเริ่มแรกที่มีวัคซีน โดยคาดการณ์กันว่าถ้าประชากรส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 70 ก็จะหยุดการระบาดของโรคได้ แต่ความเป็นจริง ภูมิคุ้มกันหมู่ ไม่สามารถใช้ได้กับโรคโควิด 19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "หมอยง" เผยบทเรียนการฉีดวัคซีนโควิดของต่างประเทศ "ชิลี-สหรัฐฯ"
• หมอยง เปิดผลศึกษาการ ฉีดวัคซีนไขว้ ระบุ ลำดับสลับวัคซีนมีผลต่อภูมิต้านทาน
• หมอยง เผยผลวิจัยฉีด กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าฯ ภูมิต้านทานจะสูงขึ้นมาก
สิงคโปร์ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 80% โรคก็ยังระบาดอยู่ อิสราเอลก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ไม่สามารถป้องกันได้อย่างสมบูรณ์ ฉีดวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อ และแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ แต่ความรุนแรงของโรคลดน้อยลง ไวรัสเองยังเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ที่จะหลบหลีกต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์
ถ้ามีภูมิต้านทานจากการติดเชื้อ หรือฉีดวัคซีน เมื่อติดเชื้อ อาการจะลดน้อยลงหรือไม่มีอาการ การติดเชื้อครั้งแรกในคนที่ไม่มีภูมิต้านทาน จะรุนแรงที่สุด และจะสร้างภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อในครั้งต่อไปให้มีอาการลดน้อย และจะลดน้อยลงเรื่อยๆจนเป็นเหมือนโรคทางเดินหายใจแบบปกติ
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญทุกคนจะต้องมีภูมิต้านทาน ถึงแม้จะไม่สมบูรณ์ ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้น เกิดได้จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีน และเมื่อมีการติดเชื้อเมื่อมีภูมิต้านทาน อาการก็จะน้อยลงหรือไม่มีอาการ
ในอนาคตการพัฒนายามาช่วยในการรักษาหรือลดอาการของโรคลงอีก ก็จะเป็นวิธีที่ช่วยเสริมลดความรุนแรงลง
เราจะอยู่ด้วยกันกับไวรัสเช่นไวรัสทางเดินหายใจชนิดอื่น และต่อไปโรคนี้จะเป็นในเด็ก และมีอาการน้อย ไม่สามารถจะกวาดล้างให้หมดไปได้
ทุกคนควรได้รับวัคซีน ให้มีภูมิต้านทานเกิดขึ้น เพื่อลดความรุนแรงของโรคลง ด้วยการฉีดวัคซีนทุกคน