ใครที่กำลังใกล้เกษียณอายุ หรือเกษียณไปแล้ว กำลังมองๆ หากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียด หารายได้เสริม แนะนำโครงการดีแทคเน็ตทำกิน ปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า50+ โครงการดีๆที่จะทำให้ผู้สูงวัยได้ทั้งเงิน ความรู้ การขายของออนไลน์ การป้องกันตัวเองในยุคดิจิทัล
ทั่วโลกกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ และหลายประเทศกำลังเร่งบริหารจัดการกับเรื่องนี้อยู่เพื่อรองรับในอนาคตอันใกล้ที่จะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในสังคม ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันที่เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเร่งพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณสุข อาชีพ กิจกรรม รองรับ เพราะมีผู้สูงอายุบางกลุ่มยังอยู่แบบโดดเดี่ยว
ด้วยเหตุนี้...จึงทำให้ดีแทคเน็ตทำกิน ได้ร่วมมือกับ ดีป้า มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และยังแฮปปี้ (YoungHappy) เปิดโครงการ เน็ตทำกิน ในภารกิจปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า 50+ พร้อมยกระดับทักษะดิจิทัลให้ผู้สูงวัยอาศัยลำพังรุ่นแรก 250 คน ให้พึ่งพาตนเองได้ ในสภาวะการที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ผลักดันเข้าสู่เศรษฐกิจสูงวัยด้วยองค์ความรู้ด้านดิจิทัลพร้อมก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ
หากถามว่า ? โครงการดีแทคเน็ตทำกิน ปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า50+ ดียังไง ? ความรู้ที่ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับมีอะไรบ้าง ตอบได้เลยดังนี้
-เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย เพิ่มทักษะดิจิทัล รุ่นแรก 250 คน ให้พึ่งพาตนเองได้
-เพื่อผลักดันให้เป็นผู้ประกอบการ สู่เศรษฐกิจสูงวัย
-สอนเทคนิคการใช้สื่อดิจิทัล การตลาดออนไลน์ครบวงจร
-เพื่อให้ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ สร้างรายได้เพิ่ม 15 -50 %
-เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนไทย ให้มีกิจกรรมทำไม่เหงาในวัยเกษียณ
-เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรู้เท่าทันภัยไซเบอร์
นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า โครงการดีแทคเน็ตทำกิน ปั้นผู้ประกอบการวัยเก๋า50+ ได้ร่วมมือกับพันธมิตรหลายองค์ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในขณะนี้ และในอนาคตให้รับเมกะเทรนด์ของโลกศตวรรษที่ 21 โดยองค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ประชากรผู้สูงวัยโลกอายุกว่า 65 ปีขึ้นไป จะมีจำนวน 1,500 ล้านคนในปี 2593 ขณะที่ประเทศไทยผู้สูงวัยในตอนนี้สูงถึง 20% และจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2576 โดยในอีก 30 ปีข้างหน้า คาดว่าประชากรกลุ่มเกษียณ เตรียมเกษียณจะมีจำนวน 30 ล้านคน ดังนั้นถ้าผู้สูงวัยไม่สามารถก้าวทันดิจิทัลก็จะเกิดปัญหาหลายอย่างตามมา ซึ่งโครงการนี้ตอบโจทย์ที่จะปิดช่องว่างดิจิทัลที่จะส่งผลกระทบต่อผู้สูงวัยในไทยได้
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า เศรษฐกิจผู้สูงวัย ถือเป็น 1 ใน 5 สาขาเศรษฐกิจที่รัฐบาลตั้งเป้าพัฒนานำเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัล ความคิดสร้างสรรค์มาใช้ ซึ่งหากผู้สูงวัยได้รับการยกระดับทักษะด้านดิจิทัลให้เข้มแข็งก็จะมีโอกาสขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจผู้สูงวัยในประเทศได้ ที่ปัจจุบันมีมูลค่าสูง 1 แสนล้านบาท และแนวโน้มขยายตัวประมาณ 5-10% ต่อปี โดยจะเน้นเสริมทักษะ ความรู้การค้าขายออนไลน์ แสวงหาโอกาสในการทำธุรกิจดิจิทัล ความรู้รับมือกับภัยเสี่ยงบนโลกออนไลน์ ซึ่งจะมีพี่เลี้ยงช่วยแนะนำ แก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการออนไลน์วัยเก๋าหน้าใหม่จนกว่าจะมีความมั่นใจ สานต่อดูแลธุรกิจออนไลน์ได้
ด้าน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ต้องส่งเสริมผู้สูงวัยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ไม่หลงเชื่อข่าวลวงข่าวปลอม ไม่ถูกหลอกลวงฉ้อโกง ตกเป็นเหยื่อของ Romance Scam หรือการขายยาอาหารเสริมต่าง ๆ สามารถใช้ดิจิทัลสร้างความสุข ลดช่องว่างระหว่างวัยกับบุตรหลาน รวมถึงสามารถหารายได้ทางการใช้ดิจิทัล สร้างคุณค่าเสริมความแข็งแกร่งในการพึ่งพาตนเอง
ขณะที่ นายธนากร พรหมยศ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารยังแฮปปี้ (YoungHappy) กิจการเพื่อสังคมที่มุ่งสร้างคอมมูนิตี้ของผู้สูงวัย กล่าวว่า จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ลดปัญหาทางด้านร่างกาย และจิตใจที่เสื่อมถอยตามกาลเวลา ป้องกันโอกาสเสี่ยงในการเป็นผู้สูงวัยติดบ้านและติดเตียง เพื่อขยายช่วงเวลาของการเป็น Active Aging หรือผู้สูงวัยที่ยังคงแอคทีฟออกไปให้มากที่สุด ด้วยคอนเซปต์ ‘สนุก มีคุณค่า และพึ่งพาตัวเองได้’