svasdssvasds

สปสช. พบคนกรุงกว่า 2 พันราย รับชุด ATK ไปแล้วยังไม่ตรวจ เหตุไม่มีเวลา ไม่สะดวก

สปสช. พบคนกรุงกว่า 2 พันราย รับชุด ATK ไปแล้วยังไม่ตรวจ เหตุไม่มีเวลา ไม่สะดวก

สปสช. เผยข้อมูล สายด่วน 1330 โทรติดตามประชาชนรับชุดตรวจ ATK ใน กทม. กว่า 4 พันราย พบกว่าครึ่งยังไม่ใช้ตรวจเชื้อโควิด-19 เหตุผลไม่มีเวลา ไม่สะดวก รอมีอาการค่อยตรวจ ชี้หากเก็บไว้เฉยๆ ในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสมอาจหมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพ

 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ สปสช.ร่วมกับหน่วยบริการเดินหน้ากระจายแจกชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้ประชาชนตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา และมุ่งให้เกิดการควบคุมการแพร่ระบาดตามนโยบายรัฐบาล สปสช.ได้มีการติดตามผลของประชาชนที่รับ ATK ไปแล้ว โดยสายด่วน สปสช. 1330 ได้ทำการ “โทรสำรวจผู้ที่รับชุดตรวจ ATK” เบื้องต้นดำเนินการในพื้นที่ กทม. จำนวน 6,000 ราย โดยดำเนินการในวันที่ 20-21 กันยายน 2564 ซึ่งในจำนวนนี้มีประชาชนที่โทรติดต่อได้และสะดวกให้ข้อมูลจำนวน 4,062 ราย (68%) โทรติดต่อไม่ได้จำนวน 1,382 ราย (23%) และไม่สะดวกให้ข้อมูลอีกจำนวน 556 ราย (ร้อยละ 9%)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• สปสช.กระจายชุดตรวจ ATK วันแรกกว่า 1.1 ล้านชุดในพื้นที่ กทม.

• เช็กเลย! ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีสิทธิได้รับ "ATK" ฟรีจาก สปสช. คนละ 2 ชุด

• สปสช. ปรับระบบใหม่ ใช้ AI ตรวจก่อนเบิกจ่ายให้ รพ. เพิ่มความถูกต้อง รวดเร็ว

 ทั้งนี้ ในจำนวนประชาชนที่ติดต่อได้และสะดวกให้ข้อมูลนั้น มีผู้ที่รับ ATK แล้วแต่ยังไม่นำมาตรวจหาเชื้อโควิด--19 จำนวน 2,123 คน (53%) และผู้ที่ใช้ตรวจหาเชื้อแล้วจำนวน 1,889 คน (47%) 

 ในกลุ่มประชาชนที่ยังไม่นำ ATK มาใช้ตรวจนั้น มีจำนวน 917 คน (43%) ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ยังไม่สะดวก รองลงมาจำนวน 441 คน (21%) ระบุว่าเก็บไว้มีอาการค่อยตรวจ, จำนวน 159 คน (8%) ระบุไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง, จำนวน 88 คน (4%) ระบุว่าตรวจไม่เป็น และอีกจำนวน 85 คน (4%) ระบุว่าไม่กล้าตรวจ รอญาติมาตรวจให้ นอกจากนี้อีก 44 คน (2%) ระบุว่านำไปให้ผู้อื่นใช้ ขณะที่กลุ่มประชาชนที่ได้นำ ATK มาตรวจแล้วนั้น มีผู้ที่มีผลตรวจเป็นลบจำนวน 1,850 คน (97.94%) ผู้ที่ผลเป็นบวกจำนวน 25 คน (1.32%) ได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาแล้ว และผู้ที่ผลตรวจแปลค่าไม่ได้จำนวน 14 ราย (0.74%)

 นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้สายด่วน สปสช. 1330 ได้สอบถามข้อมูลการบันทึกผลพบว่า ในกลุ่มประชาชนที่ตรวจ ATK มีผู้ที่บันทึกผลในระบบจำนวน 870 คน (46%) และมีผู้ที่ไม่บันทึกผลในระบบจำนวน 1,019 คน (54%) คน โดยให้เหตุผลที่ไม่ได้บันทึกผล คือ ไม่รู้ว่าต้องบันทึกผลจำนวน 907 ราย (89.1%), บันทึกไม่เป็นจำนวน 96 ราย (9.42), ลืม ไม่สะดวกจำนวน 11 ราย (1.08%) และไม่มีอุปกรณ์จำนวน 5 ราย (0.49%) 

“ข้อมูลที่ปรากฏนี้ สปสช.ขอย้ำอีกครั้งว่า เมื่อรับชุดตรวจ ATK ไปแล้ว ขอให้รีบตรวจหาเชื้อโควิดและบันทึกผลการตรวจผ่านแอปเป๋าตัง หรือกับ อสม./อสส.ที่แจกชุดตรวจให้ท่านโดยเร็ว ไม่ว่าผลการตรวจจะติดเชื้อหรือไม่ การตรวจหาเชื้อโควิดแล้วไม่บันทึกผล แม้ว่าผลจะเป็นลบ จะทำให้ท่านเสียสิทธิที่จะได้รับชุดตรวจ ATK เพิ่มในอนาคต เพราะเมื่อมีการใช้และบันทึกผลการตรวจแล้ว หากในอนาคตพบว่าท่านเป็นกลุ่มเสี่ยง ก็จะได้รับแจก ATK เพิ่มเพื่อนำไปตรวจหาเชื้ออีก แต่หากไม่ได้นำไปใช้หรือใช้แล้วไม่ได้บันทึกผลการตรวจ ก็จะไม่ได้รับแจก ATK เพิ่มเพราะถือว่ายังไม่ได้ใช้ ATK ชุดแรกที่แจกไป

 นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังพบข้อร้องเรียนว่ามีบางคนเมื่อรับ ATK ไปแล้ว ไม่นำไปตรวจหาเชื้อด้วยตัวเองแต่กลับเก็บไว้เพื่อนำไปขายต่อ กรณีนี้ขอย้ำเตือนว่าจะทำให้เกิดปัญหาหลายประการ เนื่องจากกลุ่มที่ได้รับ ATK นั้นถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 อยู่แล้ว หากรับ ATK แล้วไม่นำไปใช้แล้วปรากฎว่าคนๆนั้นติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่รู้ตัว ก็จะทำให้เสียโอกาสที่จะได้ทราบผลตรวจและเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาล่าช้าจนอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันก็จะมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อให้กับครอบครัวและคนใกล้ชิดโดยไม่รู้ตัวอีกด้วย

“ต้องบอกว่าชุดตรวจ ATK เรามีจำกัดและแจกให้เฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น เป็นการแจกให้เฉพาะตัวบุคคล นอกจากนี้ต้องเรียนว่า ATK มีอายุการใช้งานและต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสม ถ้าไม่ตรวจของอาจหมดอายุหรือถ้าเก็บไม่ดีของจะเสื่อมคุณภาพ การรับชุดตรวจแล้วเก็บไว้ไม่เอาไปตรวจจึงไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่แจกไป” นพ.จเด็จ กล่าว

ทั้งนี้จากข้อมูลการแจกชุดตรวจ ATK ให้กับประชาชนล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2564 เวลา 13.00 น. มีประชาชนรับชุดตรวจ ATK แล้วจำนวน 149,486 ราย เป็นจำนวน 299,836 ชุด ในจำนวนนี้เป็นการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังจำนวน 148,143 ราย และเป็นการแจกโดย อสม. 1,343 ราย ตรวจโควิดและบันทึกผล 69,805 ราย หรือร้อยละ 47 เป็นผลบวก จำนวน 548 ราย

related