รัฐมนตรีสาธารณสุขอิตาลี ประกาศ ออก พ.ร.ก.ตรวจโควิด19 เป็นลบ และต้องได้ "กรีนพาส" ให้พนักงานภาครัฐและเอกชนทุกคน ถึงจะสามารถไปทำงานได้
โรแบร์โต สเปรันซา รัฐมนตรีสาธารณสุขของอิตาลี เผยว่า รัฐบาลอิตาลีได้อนุมัติพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) ที่กำหนดให้พนักงานภาครัฐและเอกชนทุกคน ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน การตรวจโควิด19 เป็นลบ หรือการฟื้นตัวจากการติดเชื้อเมื่อเร็วๆ นี้
พ.ร.ก. ดังกล่าวได้รับการตัดสินในการประชุมคณะรัฐมนตรีและมีเป้าหมายเพื่อชักชวนให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นรับการฉีดวัคซีนโควิด19 โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 15 ต.ค. นี้
สเปรันซา กล่าวว่า "นี่คือการทำให้สถานที่ [ที่ทำงาน] ปลอดภัยยิ่งขึ้น และทำให้การรณรงค์ฉีดวัคซีนเข้มแข็งขึ้น กลยุทธ์ที่ชี้วัคซีนเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดฤดูกาลใหม่"
ประมาณ 75% ของประชากรอิตาลีอายุ 12 ปีขึ้นไปได้รับการฉีดวัคซีนโควิด19 ครบถ้วนตามตัวเลขของรัฐบาล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ประกาศดังกล่าวทำให้อิตาลีเป็นประเทศแรกในยุโรปที่ออกกฎหมายให้ทุกคนฉีดวัคซีนโควิด19 ทั้งที่ครั้งหนึ่งอิตาลีเคยเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของโควิด19 ในทวีปยุโรป
ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค. เป็นต้นมา จำเป็นต้องมี "Certificazione Verde" หรือกรีนพาส หรือบัตรผ่านสีเขียว เพื่อเข้าชมสถานที่ทางวัฒนธรรม เช่น พิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ สถานบันเทิงและกีฬา สวนสนุก สปา และรับประทานอาหารในร่ม ในวันที่ 1 ก.ย. ได้ขยายมาตรการนี้ให้ครอบคลุมถึง การบินภายในประเทศ การเดินทางด้วยรถไฟระหว่างภูมิภาค และการเดินทางทางทะเล
บัตรผ่านแสดงให้เห็นว่าผู้ถือวัคซีนได้รับการฉีดวัคซีน มีผลตรวจเป็นลบภายใน 48 ชั่วโมงที่ผ่านมา หรือหายจากเชื้อไวรัสภายในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การตรวจโควิด19 จะทำได้ง่ายขึ้นโดยมีร้านขายยาหลายแห่งที่สามารถดำเนินการทดสอบแอนติเจนได้ อย่างไรก็ตามจะตรวจฟรีเฉพาะผู้ที่ได้รับการยกเว้นทางการแพทย์จากการฉีดวัคซีน หมายความว่าผู้ที่ปฏิเสธที่จะรับการฉีดวัคซีนด้วยเหตุผลอื่นจะต้องจ่ายเงินเพื่อทำการตรวจ และสุดท้ายต้องจ่ายเงินเพื่อรับ "กรีนพาส" เพื่อไปทำงาน
การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางความกังวลว่าอาจมีการติดเชื้อโควิด19 เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวนี้
ขณะนี้อิตาลีอยู่ในภาวะฉุกเฉินเนื่องจากการระบาดใหญ่ แม้ว่าประเทศจะหลุดพ้นจากการล็อกดาวน์ระลอกที่สามแล้ว แต่สามารถนำมาตรการควบคุมโควิด19 ที่เข้มงวดกลับมาได้ทุกเมื่อ
อิตาลีถือเป็นประเทศที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดเป็นอันดับสองของยุโรป (รองจากสหราชอาณาจักร) ผ่านจุดสำคัญที่มีผู้เสียชีวิต 100,000 รายในวันที่ 8 มี.ค.