svasdssvasds

กรมอนามัยตั้งเป้า ฉีดวัคซีนโควิดให้หญิงตั้งครรภ์ 1 เดือน 1 แสนราย

กรมอนามัยตั้งเป้า ฉีดวัคซีนโควิดให้หญิงตั้งครรภ์ 1 เดือน 1 แสนราย

กรมอนามัย ตั้งเป้าหญิงตั้งครรภ์ต้องเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 กำหนดภายใน 1 เดือนกำหนด 1 แสนราย เริ่มตั้งแต่ 13 ก.ย.64

 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ระบุว่า หญิงตั้งครรภ์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงเมื่อเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 และต้องเร่งให้ได้รับวัคซีน โดยมีเป้าหมายคือ “1 เดือน 1 แสนราย” เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน - 13 ตุลาคม 2564 นี้ จากปัจจุบันการฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม - 9 กันยายน 2564  ได้รับวัคซีนแล้ว ทั้งหมด 68,435 ราย เข็มที่ 1 จำนวน 53,697 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 14,559 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 179 ราย ซึ่งถือว่ายังน้อยมาก

 โดยก่อนหน้านี้ พลอากาศโท นายแพทย์การุณ เก่งสกุล ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เคยเปิดเผยไว้ก่อนหน้านี้ว่าโควิด-19 เป็นโรคที่ทำให้หลอดเลือดชำรุดเสียหาย ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์สูงมาก ทั้งภาวะความดันโลหิตสูง เลือดออกง่ายกว่าปกติ หลอดเลือดอุดตันที่ปอดมากกว่าปกติ รกลอกก่อนกำหนด จึงเป็นสาเหตุของการ แท้งการคลอดก่อนกำหนด เด็กน้ำหนักน้อยกว่ากำหนด รวมถึงทำให้แม่เสียชีวิตได้ง่ายกว่าปกติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

• รพ.ภูมิพล เปิดจอง "วัคซีนไฟเซอร์" เข็ม 1 หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเด็กป่วยเรื้อรัง

• สธ.เตรียมเสนอ ศบค. บังคับหญิงตั้งครรภ์ WFH 100% วอนอย่ากลัวฉีดวัคซีนโควิด

• ไทยร่วมใจ กทม.เปิด Walk in 12 จุด เร่งฉีดวัคซีนโควิดหญิงตั้งครรภ์

 ขณะที่สรีระหญิงตั้งครรภ์ ช่วง 32 สัปดาห์หรือ 8 เดือน ครรภ์จะใหญ่ขึ้น น้ำคร่ำในมดลูกมีมากที่สุดประมาณ 1-1.3 ลิตร จึงดันมดลูกขึ้นไปทำให้ปอดขยายตัวลำบาก เกิดภาวะปอดแฟบตามธรรมชาติ ทำให้เกิดปัญหาหายใจล้มเหลวได้มาก

 อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะใน 12 สัปดาห์หรือ 3 เดือนแรกเป็นช่วงที่ร่างกายเด็กกำลังสร้างอวัยวะ ทุกอย่างเช่น ระบบสมอง ประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อมไร้ท่อ ต้องไม่มียาหรือวัคซีนใดๆ เข้ามาแทรกซ้อน

 สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์มีการระบุว่าห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ สามารถใช้ยาเรมเดซิเวียร์แบบฉีดได้ในกรณีอาการรุนแรงเช่นโควิด-19 ลามลงปอด
 

related