สหภาพแรงงานย่านรังสิตจับมือภาคีเครือข่าย ยื่น 4 ข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข หลังพบหญิงตั้งครรภ์เสียชีวิตจากโควิดมากขึ้น ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเตรียมเสนอ ศบค. บังคับสถานประกอบการให้หญิงตั้งครรภ์WFH 100% และวอนอย่ากลัวการฉีดวัคซีนโควิด
27 ส.ค.6ย์4 นางสาวศรีไพร นนทรี แกนนำกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตมพร้อมด้วย นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และนายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้มีมาตรการเร่งด่วน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 และให้ได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุดซึ่งมีนายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นตัวแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงมารับหนังสือดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รพ.ศิริราช เปิดลงทะเบียนฉีด "ไฟเซอร์" คนท้อง-เด็ก ผ่านแอปฯ Siriraj Connect
กรมอนามัย เผยคนท้องติดโควิด 898 ราย ดับแล้ว 16 ราย แนะต้องเร่งฉีดวัคซีน
นางสาวศรีไพร ระบุว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานจำนวนมาก บางคนรายได้ลดลง บางคนต้องตกงานสูญเสียรายได้ ซ้ำร้ายบางคนต้องสูญเสียคนในครอบครัว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ยังไม่ได้รับการปกป้องเท่าที่ควร ไม่มีการแยกออกจากพื้นที่เสี่ยง ยังต้องเจอกับคนจำนวนมาก จึงทำให้มีหญิงตั้งครรภ์จำนวนไม่น้อยต้องติดโควิด และประสบปัญหาถูกรพ.ปฏิเสธการทำคลอด โดยระบุว่ารพ.ไม่มีความพร้อมทำคลอดกรณีที่มีการติดโควิดด้วย ทำให้ผู้ป่วยและญาติต้องหารพ.ทำคลอดกว่า 4 แห่ง บางรายที่ติดโควิดทำคลอดที่รพ.เอกชนก็ถูกเรียกเก็บเงินกว่า 150,000 บาท นับเป็นการซ้ำเติมแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 อย่างมาก หลายคนเลือกใช้วิธีการดูแลตัวเอง บางรายดีขึ้น แต่บางรายอาการทรุด ถึงเสียชีวิต
ขณะที่ นางสาวจรีย์ ระบุถึง เครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข คือ
1.ขอให้กำกับดูแลโรงพยาบาลที่รับฝากครรภ์ ไม่ควรปฏิเสธการทำคลอด-รักษาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดโควิด-19 หากเกินศักยภาพที่โรงพยาบาลจะดูแลรักษาได้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแล ประสานต่อ ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยและครอบครัวไปหาสถานพยาบาลเอง และควรเร่งประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตัว การดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่ถูกต้องให้กว้างขวาง
2.เร่งฉีดวัคซีนให้หญิงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปให้ครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากพบว่าปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไม่ถึง 3% ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตในหญิงตั้งครรภ์สูงถึง 2.5%
3. กรณีหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด-19 เสียชีวิต หรือลูกเสียชีวิต หรือเสียชีวิตทั้งแม่ทั้งลูก โรงพยาบาลต้องจัดให้นักสังคมสังเคราะห์ประเมิน และวิเคราะห์รายกรณี เพื่อประสานการช่วยเหลือ เยียวยาสภาพจิตใจครอบครัว ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น
4. กระทรวงสาธารณสุขต้องเชื่อมต่อกับโรงงานต่างๆ ให้บริษัทฯ ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้กับคนงานต่อเนื่องเพื่อแยกผู้ติดเชื้อฯ ออกมารักษาตามระบบป้องกันการแพร่กระจายสู่ผู้อื่น สนับสนุนให้แต่ละสถานประกอบการมี Factory isolation ที่มีมาตรฐาน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ พยาบาลในการดูแลผู้ติดเชื้อ มีระบบการประสานส่งต่อคนงานที่มีอาการเริ่มรุนแรง รวมถึงเชื่อมโยงการทำ Home isolation ที่ถูกต้อง
ด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เห็นด้วยทุกข้อเสนอ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการดำเนินการอยู่ ในการเร่งฉีดวัคซีนหญิงตั้งครรภ์และการรักษาด้วยยา "เรมเดซิเวียร์" ที่เป็นแบบฉีดตามแนวทางกรมการแพทย์หากเป็นหญิงตั้งครรภ์ติดโควิด เนื่องจากในกลุ่มนี้ หากใช้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้วอาจจะส่งผลกระทบข้างเคียงได้ ซึ่งตอนนี้มีการซื้อนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเพียงพอ
เบื้องต้น รพ.ไหนที่รับฝากครรภ์ต้องรับคลอด ห้ามปฏิเสธทุกกรณี โดยเฉพาะหากเป็นผู้ป่วยโควิด ซึ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินต้องรับการรักษา หากรพ.ไหนปฏิเสธไม่รักษาหรือไม่ทำคลอด ผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล จำคุกไม่เกิน2ปี หรือปรับไม่เกิน40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าชุด PPE
ทั้งนี้ที่ประชุม ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข จะมีการประชุม เพื่อเตรียมเสนอ ศบค. แนวทางให้หญิงตั้งครรภทำงานที่บ้าน 100% เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงหากรับเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงเสียชีวิตได้ โดยขอให้หญิงตั้งครรภ์อย่ากลัวการเข้ารับวัคซีนโควิด เนื่องจากวัคซีนโควิด ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและมีประโยนช์กว่าการไม่ฉีด