"อนุทิน" เผย วัคซีนไฟเซอร์ล็อตแรกมา 2 ล้านโดสในวันที่ 29 ก.ย. เตรียมฉีดวัคซีนให้เด็กในอายุ 12 ปีขึ้น เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดเรียนปกติได้ พร้อมย้ำอย่าตื่นตระหนกกับการระบาดระลอก 5 แนะรีบมาฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 และลดการป่วยหนัก หรือเสียชีวิตได้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในเด็กว่า วันที่ 29 กันยายนนี้ จะมีวัคซีนไฟเซอร์มา 2 ล้านโดส และจะมีวัคซีนไฟเซอร์ทยอยมาจนครบ 30 ล้านโดส โดยวัคซีนล็อตแรกจะเริ่มจะทยอยฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปก่อน เพื่อให้สามารถกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนได้และจนถึงสิ้นปีจะมีวัคซีนที่ได้รับส่งมอบเพียงพอต่อประชาชน ส่วนศักยภาพในการดำเนินการฉีดวัคซีนก็สามารถทำได้รวดเร็วเฉลี่ยวันละ 900,000 คน
สำหรับประชาชนที่ได้ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม จะได้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 ในต้นเดือนตุลาคม เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันในร่างกาย ส่วนประชาชนที่ได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม มีภูมิสูงขึ้นอยู่แล้ว ตอนนี้ยังไม่ต้องบูสเตอร์โดสเข็ม 3 ให้รอเวลาอันเหมาะสมคาดว่าน่าจะเป็นต้นปี 2565
ส่วนการลดจำนวนวันกักตัว นายอนุทิน ยอมรับมีการคุยกันเรื่องลดจำนวนวันกักตัวแต่ก็ขอดูสถานกาณ์ก่อน ตอนนี้ผู้ติดเชื้อเพิ่งเริ่มมีจำนวนลดลงมาซึ่งช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ เริ่มผ่อนคลายมาตรการเป็นจำนวนมาก หากจะมีการเพิ่มเติม หรือผ่อนปรนมาตรการอื่นๆ ต้องใช้ระยะเวลา ยังยืนยันว่ามาตรการใดๆก็ตามที่สามารถดำเนินการผ่อนคลายได้กระทรวงสาธารณสุขก็จะเร่งผ่อนปรนอยู่แล้ว
พร้อมย้ำประชาชนอย่าเพิ่งตระหนกกับการระบาดระลอก 5 ซึ่งประชาชนต้องช่วยกัน อย่าประมาท และรีบมาฉีดวัคซีน เพราะวัคซีนมีประโยชน์มากในการป้องกันโควิด-19 และลดการป่วยหนักเสียชีวิตได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
• "อนุทิน" จ่อชง ศบค. เคาะฉีด "วัคซีนไฟเซอร์" ให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป
• อนุทินเผย กันวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็ก 5 ล้านโดส
• "อนุทิน" ยันไม่เคยคิดกอบโกยผลประโยชน์ ย้ำวัคซีนที่ไทยใช้อยู่ดีทั้งหมด
นอกจากนี้ นายอนุทิน ได้ร่วมงานเปิดตัวเครื่องฉายรังสีประสิทธิภาพสูง ที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ เครื่องเร่งอนุภาคพลังงานสูงชนิดแปร ความเชิงปริมาตรและระบบวางแผนรังสีรักษาทางไกลในการให้บริการผู้ป่วยมะเร็งด้วยรังสีรักษาที่เที่ยงตรงแม่นยำกระทบเนื้อเยื่อปกติน้อยที่สุด โดยในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งด้วยการผ่าตัดหรือการให้ยาเคมีบำบัดมีข้อจำกัดแพทย์จึงเลือกใช้วิธีรังสีรักษาแก่ผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น
ส่งผลกระทบให้คิวการรักษาคอยนานเนื่องจากมีจำนวนเครื่องฉายรังสีไม่เพียงพอ ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอการจัดหาคุรุภัณฑ์เครื่องฉายรังสีสำหรับแก้ปัญหาผลกระทบจาก โควิด-19 ด้านการแพทย์และสาธารณสุขในปีงบประมาณ 2564 ให้แก่หน่วยงานด้านรังสีรักษาจำนวน 7 แห่งทั่วประเทศ ในวงเงิน 878.20 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการรักษาด้วยการใช้รังสีได้สะดวกมากยิ่งขึ้นและยังเป็นการสนับสนุนโครงการมะเร็งรักษาได้ทุกคน