เพจดังเล่าประวัติ "ปราสาทหินพนมรุ้ง" หลังปรากฎอยู่ในเอ็มวี "ลิซ่า" ที่กำลังฟีเวอร์ไม่หยุด สะท้อนความเป็นไทย
วันที่ 10 ก.ย. 2564 หลังกระแสเอ็มวี "ลิซ่า" ฟีเวอร์ไม่หยุด ล่าสุดเพจเฟซบุ๊ก “โบราณนานมา” โพสต์ข้อความว่า ต้นแบบน่าจะมาจาก “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ “ลลิษา มโนบาล” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ลิซ่า แบล็กพิงก์” สมาชิกของวงเกิร์ลกรุปเกาหลีใต้แบล็กพิงก์ เกิดที่จังหวัดบุรีรัมย์ และเติบโตที่กรุงเทพมหานคร
ใน MV เพลงใหม่ของ “ลิซ่า แบล็กพิงก์” (ลิงก์ https://www.youtube.com/watch?v=awkkyBH2zEo) ในบางช่วงจะมีฉากปราสาทหิน แอดมินคิดว่าต้นแบบน่าจะมาจาก “ปราสาทหินพนมรุ้ง” ในอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดบ้านเกิดของ “ลิซ่า แบล็กพิงก์”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ลิซ่า BLACKPINK กับเพลงโซโล่ครั้งแรก LALISA ยอดวิว 9.1 ล้าน ใน 1 ชม.
ลิซ่า BLACKPINK สร้างปรากฏการณ์ สวมผ้าไหม สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย
“ปราสาทหินพนมรุ้ง” ตั้งอยู่ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นโบราณสถานที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์มาก เพราะสะท้อนถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรในภาคอีสานของประเทศไทย โดยปราสาทแห่งนี้สันนิษฐานว่าเป็นเทวสถานในศาสนาฮินดู ไศวะนิกาย สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 15 และต่อเติมเรื่อยมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18
ปราสาทพนมรุ้งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อ วันที่ 8 มีนาคม 2478 และได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ 2514 โดยวิธีอนัสติโลซิส (Anastylosis) คือการนำชิ้นส่วนของปราสาทที่พังทลายลงมากลับเข้าตำแหน่งเดิม และบูรณะแล้วเสร็จใน 2531
ปราสาทประธานเป็นศูนย์กลางของพื้นที่โดยรอบ ซึ่งสะท้อนคติจักรวาลวิทยาของเขาไกรลาศ อันเป็นที่ประทับของพระศิวะนั่นเอง มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมมีมุขสามทิศ แต่ทางทิศตะวันออกทำเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเรียกว่ามลฑป
ปราสาทประธานสร้างจากหินทรายมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า “ครรภคฤหะ” หรือถ้ำของโยคี สร้างแบบมิดชิด แสงเข้าได้น้อย ไม่มีการแกะสลักที่สวยงามเท่าด้านนอก สันนิษฐานว่าอาจเป็นการสร้างเลียนแบบถ้ำที่พราหมณ์หรือพรตใช้บำเพ็ญตบะ และเป็นพื้นที่สงวนเฉพาะพราหมณ์ ส่วนมลฑปสันนิษฐานว่าใช้เป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมหรือประดิษฐานเทวรูป
นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมที่สวยงามของปราสาทพนมรุ้งแล้ว ยังมีงานประติมากรรมชิ้นเอกของปราสาทพนมรุ้งคือ “ภาพจำหลัก” โดยภาพจำหลักมีทั้งส่วนที่เป็นหน้าบัน ซุ้มบัญชร และทับหลัง โดยทับหลังที่คนไทยรู้จักกันดีคือ “ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์” ที่อยู่ภายใต้หน้าบัน “พระศิวนาฏราช” ทางด้านหน้าสุดของปราสาทประธาน ปราสาทพนมรุ้งมีความงดงามทั้งด้านประติมากรรมและสถาปัตยกรรม แต่จะยิ่งงดงามแลดูมีมนต์ขลังมากขึ้นเมื่อแสงพระอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตู ในช่วง 4 ครั้งของแต่ละปี
บรรณานุกรม ศิลปวัฒนธรรม. แสงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง มหัศจรรย์เมืองไทยกับเรื่องดวงของปราสาท. https://www.silpa-mag.com/art/article_30352. (สืบค้นเมื่อ 10 กันยายน 2564)