คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน ประกาศ ได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชากรมากกว่า 2,000 ล้านโดส ตั้งเป้าหมายฉีดให้ครอบคลุม 80% ของประชากรภายในสิ้นปีนี้
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีน (National Health Commission: NHC) ประกาศว่า ประเทศได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 มากกว่า 2 พันล้านโดส และมีประชาชนกว่า 889 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผลิตในประเทศทั้งหมด และทำให้จีนมีเปอร์เซ็นต์ประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้วที่ทัดเทียมกับสหราชอาณาจักร และนำหน้าสหรัฐอเมริกา
โดยการฉีดวัคซีนมากกว่า 2 พันล้านโดส เกิดขึ้นเพียง 10 สัปดาห์ให้หลังจากที่จีนฉีดวัคซีนทะลุพันล้านโดส ในเดือนมิถุนายน ปัจจุบันจีนครองสัดส่วนการฉีดวัคซีนทั่วโลกประมาณ 40% จากวัคซีนที่ฉีดกันทั่วโลกกว่า 5 พันล้านโดส
สาเหตุที่จีนเร่งอัตราการฉีดวัคซีนจำนวนมาก เกิดขึ้นจากโควิดสายพันธุ์เดลต้าที่เริ่มแพร่ระบาดในประเทศ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจีนประกาศว่า ประเทศสามารถควบคุมการแพร่ระบาด "ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" โดยมียอดติดเชื้อรายวันลดลงต่อเนื่อง 11 วัน ตั้งแต่วันที่ 16 ส.ค.
จง หนานซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจชั้นนำของจีน กล่าวว่า จีนตั้งเป้าที่จะฉีดวัคซีนให้ครบ 80% ของประชากร 1.4 พันล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งนั่นเท่ากับ 1,120 ล้านโดส และสิ่งนี้จะทำให้เกิด "ภูมิคุ้มกันหมู่ที่มีประสิทธิภาพ"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งล่าสุดของจีนมุ่งเป้าไปที่ผู้สูงอายุ ผู้เยาว์ และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ชนบทอันกว้างใหญ่ของประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงยากซึ่งไม่ได้รับการคุ้มครองในรอบการฉีดวัคซีนก่อนหน้านี้
NHC เน้นย้ำว่าการฉีดวัคซีนควรเป็นไปโดยสมัครใจ แต่ภายใต้แรงกดดันที่ต้องการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนให้มากยิ่งขึ้น ส่งผลให้เทศบาลท้องถิ่นหันมาใช้มาตรการบังคับมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าจะปฏิบัติได้ตามเกณฑ์
โดยเทศบาลท้องถิ่นทั่วประเทศ ออกมาตรการห้ามไม่ให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ อาทิ การเข้าถึงโรงพยาบาล โรงเรียน และระบบขนส่งสาธารณะ
มาตรการเหล่านี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และไม่พอใจในวงกว้างต่อสื่อสังคมออนไลน์ของจีน โดยผู้ใช้จำนวนมากกล่าวหาเทศบาลท้องถิ่นว่าละเมิดนโยบายของรัฐบาลกลางและกำหนดให้ฉีดวัคซีนโดยสมัครใจโดยพฤตินัย
หยานจง หวง เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านสุขภาพระดับโลกของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความคลาดเคลื่อนระหว่างนโยบายของรัฐบาลกลางกับการดำเนินการในท้องถิ่นนั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในระบบการเมืองแบบบนลงล่างของจีน ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดอยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาลในการบรรลุเป้าหมายเชิงนโยบาย กำหนดโดยปักกิ่ง
"ความล้มเหลวในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้จะนำไปสู่การลงโทษ ทำให้เกิดแรงจูงใจนี้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในท้องถิ่นดำเนินมาตรการที่หนักหน่วงเพื่อทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ" หวง กล่าว