ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีน ChulaCOV-19 โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล่าสุดเตรียมเดินหน้าวิจัยในระยะต่อไปหลังผลทดลองในสัตว์ และในมนุษย์ระยะที่ 1 ช่วงมิ.ย.ที่ผ่านมาได้ผลดี เผยกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบได้กับวัคซีนไฟเซอร์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แถลงข่าว “แพทย์จุฬาแจ้งข่าวดี ทดสอบวัคซีน ChulaCOV-19 ในอาสาสมัคร เร่งวิจัยระยะต่อไป” โดย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยวัคซีนจุฬาฯ ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ในการพัฒนาวัคซีนที่ใช้ชื่อว่า วัคซีน ChulaCOV-19 ซึ่งล่าสุดได้มีการทดลองในสัตว์ทดลอง และได้ทดลองในมนุษย์เฟสแรกเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการวิจัยระยะที่ 1 เป็นเรื่องน่ายินดี โดยต้องขอขอบพระคุณทีมนักวิจัยของจุฬาฯ และนักวิจัยจากนานาชาติ รวมทั้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งผลการวิจัยระยะต่อไปคาดว่าจะได้ผลดี และจะเป็นความหวังในการผลิตวัคซีนโดยคนไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วัคซีนใบยา ฝีมือนักวิจัยจุฬาฯ เตรียมทดสอบในคนระยะแรก เดือน ก.ย. นี้
นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาเครื่องตรวจโควิดจากกลิ่นเหงื่อ
อนุทิน ตรวจเยี่ยมโรงงานต้นแบบวัคซีนโควิด จุฬา-ใบยา เริ่มทดสอบในคน ก.ย.นี้
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงขั้นตอนการวิจัยว่า การทดสอบในอาสาสมัครแบ่งออกเป็นอาสาสมัคร 36 ท่าน อายุ 18-55 ปี ส่วนอาสาสมัคร 36 ท่าน อายุ 56-75 ปี และ 150 ท่าน อายุ 18-75 ปี ซึ่งได้เริ่มฉีดในอาสาสมัครกลุ่มแรกไปเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.2564 ผลเบื้องต้นเรื่องความปลอดภัย ใน 36 ท่านแรกยังไม่พบผลข้างเคียง ส่วนใหญ่จะเล็กน้อย ได้แก่ อ่อนเพลีย มีไข้ อาการหนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่จะเกิดมากขึ้นในเข็มที่ 2 โดยส่วนใหญ่อ่อนเพลียมี 56% มีไข้ 25% ขณะที่เปรียบเทียบผลรายงานของไฟเซอร์จะมีไข้ใกล้ๆกับของเรา ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นเล็กน้อย หรือปานกลาง และดีขึ้นภายในเฉลี่ยประมาณ 1-3 วัน
โดยสรุปผลของวัคซีนเบื้องต้นพบว่า
1.สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดแอนติบอดีได้สูงเทียบได้กับวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ได้
2.กระตุ้นแอนติบอดีที่ได้สูงมากในการยับยั้งเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิม
3.แอนติบอดีที่สูงนี้ สามารถยับยั้งเชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ ทั้ง 4 สายพันธุ์ คือ อัลฟา เบตา แกมมา และเดลตา
4.สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันชนิดที-เซลล์ ซึ่งจะช่วย ขจัดและสามารถควบคุมเชื้อที่อยู่ในเซลล์ของคนที่ติดเชื้อได้ แต่ต้องย้ำว่าการทดสอบนี้ยังจำนวนไม่มาก ซึ่งยังเป็นผลเบื้องต้น
สิ่งที่อยากฝากไว้คือ ถ้าประเทศไทยต้องการให้มีอย่างน้อย 1 ใน 4 วัคซีนได้รับการรับรองให้เป็นวัคซีนในภาวะฉุกเฉิน EUA by April 2002 ต้องทำอย่างไร โดยได้มีการวิเคราะห์ร่วมกับทีม ต้องมี 4 อย่าง คือ 1. การระดมทุน ต้องมีเป้าหมายร่วมกันทั้งรัฐและเอกชน และประชาชนต้องมีงบเพียงพอ 2.กติกาในการขึ้นทะเบียนวัคซีน ต้องมีกติกาออกมาชัดเจนภายในเดือนหน้าจาก อย. ว่าการขึ้นทะเบียนจะต้องทำวิจัยระยะ2บี และหรือระยะ 3 อย่างไร จึงจะเพียงพอ 3.โรงงานผลิต ต้องเร่งดำเนินการให้สามารถรผลิตวัคซีนที่มีคุณภาพและจำนวนมากได้ก่อนสิ้นปี และ4.นโยบายการจองและจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าต้องมีความชัดเจน
เมื่อถามถึงวัคซีนจุฬาฯ จะผลิตได้เมื่อไหร่ การจะได้วัคซีนชนิดนี้เมื่อไหร่นั้น ควรต้องมีใช้ก่อนสงกรานต์ปีหน้า แต่การจะทำออกมาได้นั้น ต้องหางบประมาณ และกติกาของอย. จะออกมาในเรื่องการทดสอบว่า ต้องทำเฟส 2 บี ด้วยการเทียบกับผลงานวิจัยที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ ซึ่งงบจะไม่มาก แต่หากต้องการจะได้ช่วงเดือนเม.ย. ซึ่งโรงงานกำลังเร่งมือ ซึ่งรับเทคโนโลยีทรานเฟอร์มาในเรื่องการผลิตให้ได้มากและมีคุณภาพ ข่าวดีในสเกลเล็ก ซึ่งเฟส2บี จะมีวัคซีนนำเข้าส่วนหนึ่ง และวัคซีนที่เราผลิตได้ แต่กรณีหากกติกาต้องทำระยะที่ 3 เดือน เม.ย.จะไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามกติกาสากล ส่วนในเรื่องการจัดซื้อล่วงหน้าก็เป็นความสำคัญว่า จะมีการสนับสนุนงบเพื่อให้จัดซื้อวัตถุดิบก่อนหรือไม่ สิ่งสำคัญหากจะต้องทำเฟส 3 ต้องมีกติกาชัดเจนและต้องเร็ว แต่จริงๆ เป้าของเราต้องการให้มีวัคซีนมาใช้ก่อน เม.ย. ไม่ว่าจะเป็นของเราหรือไม่เมื่อถามว่า วัคซีนจุฬาต้องฉีดกี่เข็ม ศ.นพ.เกียรติ กล่าวว่า ข้อได้เปรียบเรามีวัคซีน mRNA มาก่อน ซึ่งของเราจะเหมือนไฟเซอร์ ฉีดห่างกัน 3 สัปดาห์ สำหรับคนไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน ส่วนการฉีดในเด็กนั้น เมื่อปลอดภัยในผู้ใหญ่ เราจะมีผู้เชี่ยวชาญทางเด็กเตรียมโครงการศึกษา และในเรื่องเข็มกระตุ้นเราก็มีงบเตรียมศึกษาเรื่องนี้ เพราะในเดือนเม.ย. คนไทยน่าจะฉีดวัคซีนเข็ม 2 หมดแล้ว ก็น่าจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3
ด้านนพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันฯ กำลังหารือกับ อย.ในการวางแนวทางการขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศ ไม่ใช่แค่ของจุฬา แต่ยังรวมถึงของใบยา ของอภ. หรือไบโอเนคเอเชียเอง และของจุฬาฯ สิ่งเหล่านี้ต้องใช้การปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ เพราะเป็นเรื่องใหม่ แต่สถาบันฯ จะรับไปดำเนินการ ซึ่งความเป็นไปได้ เพราะหลายกประเทศได้ใช้การขึ้นทะเบียนแบบฉุกเฉิน แต่เราต้องเรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญต้องยืนอยู่บนมาตรฐานความปลอดภัยของวัคซีน เพราะแม้จะใช้ในภาวะฉุกเฉิน ก็ต้องยึดความปลอดภัยเป็นหลัก