ตร.เร่งชี้แจงตรวจพบ "ข่าวปลอม" 2 ข่าว ข่าวแรก “ทหารกว่า 300 นายคุมตัวนายกรัฐมนตรี ” สร้างเรื่องหวังให้เกิดความวุ่นวาย เผยกองทัพบกแจ้งความแล้ว ข่าวที่สอง-“ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายใจ ” ตรวจสอบอย.แล้วพบไม่มีส่วนประกอบฟ้าทะลายโจร ขอความร่วมมือแจ้งเบาะแส 4 เว็บไซต์
วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จในลักษณะข่าวปลอม(Fake News) จากผู้ไม่หวังดีที่พยายามบิดเบือนข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ นั้น โดยในวันนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ตรวจพบข่าวปลอม อีก 2 กรณี คือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สรุปให้ เสวนา หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน
ข่าวปลอม! ไทย ติดเชื้อโควิดอันดับ 1 ของโลก-มีผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ของโลก
Fake News : อย่าแชร์ ข่าวปลอม!!! แอสไพรินบดโรยแผล ช่วยให้แผลหาย
1. กรณีที่มีการแชร์ข้อมูลว่าตอนนี้กองกำลังทหารกว่า 300 นาย ได้ควบคุมตัวนายกรัฐมนตรี ไว้แล้ว เพื่อให้กองทัพบกทำการรัฐประหารนั้น ทางกองทัพบกได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าวและชี้แจงว่า เป็นข้อมูลเท็จ เป็นการสร้างเรื่องเท็จหวังให้เกิดความวุ่นวายในสังคม เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ทำลายชื่อเสียงกองทัพและรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ผู้บัญชาการทหารบกได้มอบให้ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก เข้าดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้ที่ปล่อยข่าวปลอมดังกล่าวต่อไป
2.จากที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ตราอินทารา ซึ่งระบุสรรพคุณในการจำหน่ายว่าเสริมภูมิคุ้มกันโรค ป้องกันไม่ให้ติดไวรัสในกลุ่มทางเดินหายใจ ลดการอักเสบที่ปอดและทางเดินหายใจจากการติดเชื้อ ต้านเชื้อไวรัส และรักษาโรคโควิด-19 ได้นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบและยืนยันว่า ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และใช้ข้อความโฆษณาที่เป็นข้อมูลเท็จ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร 63-1-17262-5-0005 ได้รับอนุญาตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในชื่อ อินทรา-015 (ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร)/Intra-015 (Dietary Supplement Product) ส่วนประกอบ คือ ไคโตซาน ถั่วขาว ส้มแขก และบุก ซึ่งไม่มีฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนประกอบแต่อย่างใด
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนก ซึ่งการกระทำของผู้เผยแพร่ข่าวปลอม อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1),(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพฤติการณ์ที่ได้กระทำความผิดโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำความผิดต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน 4 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์https://www.antifakenewscenter.com ,เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87