6 องค์กรวิชาชีพสื่อ จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน” ซึ่งจากข้อกำหนดกว้าง คลุมเครือ ไม่ชัดเจน จึงก่อให้เกิดความกังวลว่า กฎหมายดังกล่าวอาจเป็นข้ออ้าง ในการคุกคามเสรีภาพของสื่อ และประชาชน
จากกรณีที่รัฐบาลออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ฉบับที่ 27) เรื่อง มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันทำให้เกิดความเข้าใจผิด
โดยระบุว่า “การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร”
ซึ่งจากข้อกำหนดกว้าง คลุมเครือ ไม่ชัดเจน อีกทั้งการดำเนินคดียังอยู่ในดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ จึงก่อให้เกิดความกังวลว่า กฎหมายดังกล่าวอาจเป็นข้ออ้าง ในการคุกคามเสรีภาพของสื่อ และประชาชน
ดังนั้นในวันนี้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชน จึงจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “หยุดอ้างข่าวปลอม หยุด พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามเสรีภาพสื่อ-ประชาชน” ดำเนินรายการโดย ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มีวิทยากร 8 คน ดังต่อไปนี้
1. สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส
2. กิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ
3.สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand
4. นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว The Standard
5. ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
6.พีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย
7. มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
8. นายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
โดยสรุปประเด็นสำคัญของทั้ง 8 คน ได้ดังต่อไปนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มาดามเดียร์ ชี้ เส้นบางๆ ระหว่าง ปราบ Fake News กับการปิดหูปิดตาประชาชน
เพราะคนรอบข้าง หรือข้อมูลผิด ! รัฐจึงปิดกั้นเสรีภาพสื่อ และประชาชน ?
อาวุธของสื่อก็คือข้อเท็จจริง
สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส
จากกรณีที่นายกฯ โพสต์เฟซบุ๊ก โดยเนื้อหาช่วงหนึ่ง สั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามข้อกำหนดดังกล่าวในทันที แสดงให้เห็นว่า ท่านไม่พอใจในการทำหน้าที่สื่อในเวลานี้ แล้วมองว่าเป็นภัยคุกคาม เพราะสถานการณ์ของรัฐบาลเริ่มเพลี้ยพล้ำ
ข่าวที่รายงาน ที่ตั้งคำถามมว่า รัฐบาลรับมือกับโควิดได้ไหม การเรียกร้องให้เปลี่ยนรัฐบาล หรือนายกฯ แม้แต่คนที่เคยสนับสนุนก็ยังร่วมเรียกร้อง จึงทำให้รัฐบาลรู้สึกไม่มั่นคง ต้องหาแพะ นั่นก็คือสื่อมวลชน เพื่อดิ้นรนรักษาความชอบธรรมในการอยู่ต่อ
และไม่เฉพาะสื่อ เท่านั้น หมอ นักวิชาการ ก็โดนเตือนก่อนหน้านี้ หมอหลายคนที่กล้าพูดความจริง พูดว่าระบบสาธารณสุขเริ่มล้มสลาย ซึ่งเป็นหมอหน้างาน แล้วสื่อก็ไปทำหน้าที่รายงานข่าว
ซึ่งจากการออกประกาศดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลกำลังแสดงท่าทีอยู่คนละฝั่งกับประชาชน สาเหตุก็คือ ความไม่มั่นใจ ความแตกแยกในรัฐบาล รวมไปถึงวิธีคิดแบบราชการ ใช้วิธีแบบเดิมๆ ในการแก้ปัญหา
อาวุของรัฐคือกฎหมาย แต่มันทำอะไรไม่ได้เมื่อเจอโควิด แต่อาวุธของหมอ นักวิชาการ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ คือหลักการ ข้อมูลทางวิชาการ การเคราะห์ การวิจัย เพราะสิ่งที่โควดกลัว คือวิทยาศาสตร์ แต่ไม่กลัวปืนใหญ่ รถถัง เรือดำน้ำ
ส่วนอาวุธของสื่อก็คือข้อเท็จจริง และความน่าเชื่อถือ สรุปก็คือ การออกประกาศดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเพลี้ยพล้ำ ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้วิกฤตโควิด-19
หวั่นถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง
กิตติ สิงหาปัด ผู้ดำเนินรายการข่าว 3 มิติ
พอมีประกาศลักษณะนี้ออกมา ที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน จึงมีความกังวลว่ามันอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง
แต่ในกรณีหากสื่อไม่รายงานของเท็จจริง ก็ถือว่าเป็นความผิด ยกตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์อยุทธยาโพสต์ อาจรายงานว่า ข้าศึกมาประชิดกำแพงเมืองแล้ว แต่หนังสือพิมพ์อยุทธยา เดลี่ อาจบอกว่า เราไม่ต้องชนะ เพราะเรามีกองกำลังที่เข้มแข็ง ถึงแม้สุดท้ายจะเสียกรุง แต่นักข่าวอยุทธยาโพสต์ อาจอยู่ในคุก แม้จะรายงานถูกต้องตามความเป็นจริงก็ตาม
ดังนั้นต้องมีการทบทวนการออกประกาศดังกล่าว รัฐบาลต้องเข้าใจจิตวิญญาณของสื่อ อย่าเอาคนที่ทำสื่อโดยสุจริต ไปปนกับคนที่โจมตีรัฐบาล มันคนละพวก คนละกลุ่ม คนละวิชาชีพ และคนละแนวทาง
อะไรก็ตามที่เป็นผลลบกับรัฐ ก็คือเฟคนิวส์ ?
นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ บรรณาธิการบริหาร The Standard
ตนเห็นด้วยกับคุณสุทธิชัย คุณกิตติ กฎหมายที่ออกมา เพื่อพยายามกด ข่มขู่ให้เกิดความกลัว ซึ่งไม่ว่าจะรัฐบาลทหาร หรือเผด็จการ วิธีการใช้ก็คือ ต้องทำให้คนเชื่อข้อมูลของทางรัฐเท่านั้น เพราะหากควบคุมข้อเท็จจริงได้ ก็จะทำให้ประชาชนเชื่อถือได้
ซึ่งหากอิงกับฐานคิดนี้ ดังนั้นแล้ว อะไรก็ตามที่เป็นผลลบกับรัฐ ก็คือเฟคนิวส์ ? ซึ่งตนคิดว่า มันเป็นการตีความที่ต้องการใช้คำว่าเฟคนิวส์ เป็นเครื่องมือในการโจมตี
แล้วในกรณีนี้ หากข้อมูลจากรัฐ หรือคนที่หนุนรัฐ เราสามารถเรียกเฟคนิวส์ได้หรือไม่ ยกตัวอย่าง การสัญญาว่าจะนำเข้าแอสตร้าฯ เดือนละ 10 ล้านโดส ตั้งแต่กรกฎาคม ไปจนถึงพฤศจิกายน แล้วทำไม่ได้ตามเป้า
หรือกรณีรัฐมนตรีบางคนพูดในรัฐสภาว่าจะมีวัคซีน (แอสตร้าฯ) ประชาชนเต็มแขนในไตรมาส 3 แบบนี้ถือว่าเข้าข่ายเฟคนิวส์หรือไม่ ?
รัฐบาลได้ยินสิ่งที่เราทักท้วงหรือไม่ ?
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
พ.ร.ก.ฉบับนี้ หายไป 3 เรื่อง (เทียบกับฉบับที่แล้ว) คือ
1. ฉบับที่แล้วกำหนดว่าต้องเป็นข่าวที่เกี่ยวกับโควิดเท่านั้น
2. ต้องเป็นข่าวที่ไม่เป็นความจริงเท่านั้น
3. ต้องมีการเตือนก่อน ขอให้ระงับก่อน จึงจะดำเนินการ หรือดำเนินคดี
ซึ่งหลังจากรัฐบาลได้ประกาศใช้ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ข้อ 11 องค์กรวิชาชีพสื่อ ก็ได้หารือและออกแถลงการณ์ร่วมกันไปแล้วก่อนหน้านี้
ต่อมา ศบค. ได้เชิญสื่อไปร่วมประชุม เราก็ได้มีการซักถาม แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบ กระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยแจ้งว่า ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการบังคับใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวได้ในทันที เราจึงไม่แน่ใจว่า รัฐบาลได้ยินสิ่งเราทักท้วงไปหรือไม่
การปิดกั้นสื่อ ไม่ใช่การแก้ปัญหา
สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ก่อตั้ง Cofact Thailand
ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพในการสื่อสาร จะทำให้การโกหกเป็นข้อมูลหลัก ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด ถ้าสังคมไม่มีเสรีภาพ จะได้ฟังข้อมูลจากฝั่งรัฐฝ่ายเดียว
บรรณาธิการสำนักข่าว AFP เคยพูดว่า โควิดเป็นเรื่องใหญ่ ทุกสื่อผิดพลาดได้ทั้งสิ้น แต่สื่อก็ต้องเพิ่มศักยภาพด้วย เพราะปัจจุบันต้องแปลข่าว สรุปข่าวอย่างรวดเร็ว อาจจะต้องลงทุนด้านอินฟอร์เมชั่นมากขึ้น ให้งบในการศึกษาค้นคว้า ในการแก้ปัญหาระยะยาว
ส่วนการที่รัฐใช้กฎหมาย มองว่าไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา ถ้าปิดกั้นให้สื่อนำเสนอ จะส่งผลกระทบกับชีวิตคน อย่างไรก็ตามสิทธิเสรีภาต้องอยู่บนความรับผิดชอบ ที่รัฐบาลทำได้คือการทำ Open data ในระยะยาว เช่นเรื่องวัคซีน ถามว่าจะเช็กข้อมูลจากไหน คนจำขื่อเว็บไม่ได้ จำสายด่วนก็ไม่ได้ นั่นเป็นประสิทธิภาพในการให้ข้อมูลของรัฐ
และนอกจากนี้ ก็ยังมีกฎหมายปกติในการดำเนินการกับสื่อ อาทิ พ.ร.บ.คอมฯ กฎหมายหมิ่นประมาทฯ ไม่จำเป็นต้องใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะสื่อไม่ใช่อาชญากร อย่าเสียเวลาในการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ส่วนสื่อเองก็ต้องระวังพาดหัวมากขึ้น จะช่วยลดดราม่าลงได้ และรัฐต้องนำข้อเท็จจริงมาโต้แย้ง แล้วให้ประชาชนตัดสินว่าควรจะเชื่อใคร
ทุกฝ่ายต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
มงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ตนยืนยันในหลักของเสรีภาพ ที่ทุกฝ่ายต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และปัจจุบันเสรีภาพได้เบ่งบานในสังคมไทยและโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในการเข้าสู่ประชาธิปไตยทางตรง เพราะประชาชนสามารถส่งเสียงได้
โดยยืนยันว่า 6 องค์กรสื่อ ไม่ได้เลือกที่จะอยู่ฝ่ายใด แต่เราดูแลเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนและประชาชน แต่ถึงวันนี้การออกแถลงการณ์ เราจะชี้จุดที่จะเป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับเสรีภาพของสื่อ ที่มีความสับสนที่ไม่เป็นเอกภาพ ไปถึงรัฐบาล
บทบาทการทำหน้าที่ของ 6 องค์กรสื่อ อาจจะไม่ถูกใจทุกฝ่าย เพราะสังคมจะต้องมีฝ่ายที่นิ่งและดู แล้วพร้อมขยับ ในวันที่ยังไม่มีใครทำหน้าที่ตรงนั้น
ประกาศฉบับนี้เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากฉบับก่อนไปเยอะ
พีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย
“ที่เปลี่ยนแปลงหนักๆ ก็คือ ตัดคำว่า ‘สถานการณ์โควิด’ ออก ขยายความเป็นทุกสถานการณ์ ตัดคำว่า ‘ข่าวจริง’ ออก กลายเป็นข่าวทุกข่าว ตัด ‘การตักเตือน’ ออก และตัด ‘พ.ร.บ.คอมฯ’ ออกด้วย หมายถึงความผิดนี้ ไม่ผิดตาม พรบ.คอม แต่ผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรอบของความผิด ก็ครอบคลุมไปถึงประชาชน แม้กระทั่งการเผยแพร่
ประกาศฉบับนี้จึงต่างจากฉบับที่แล้ว ที่รัฐต้องมีหน้าที่พิสูจน์ความจริง ก่อนกล่าวหา แต่ฉบับบี้เราจะต้องไปพิสูจน์ความจริงหลังถูกรัฐกล่าวหา ประชาชนจึงมีโอกาสที่จะถูกดำเนินคดี
อีกทั้งกำหนดให้การดำเนินคดี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ทำให้เรากังวลว่า อาจเป็ดช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจที่ไม่รอบคอบ ไม่รัดกุม และสมมติอีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจใครคนใดคนหนึ่ง แล้วไปแจ้งเจ้าหน้าที่ หากเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินคดี ก็ผิดตามมาตร 157 อีก
สถานการณ์ตอนนี้เหมือนกับที่คุณสุทธิชัยให้ข้อมูล รัฐกำลังจนแต้ม ฉะนั้นจึงต้องดำเนินการทุกทาง เพื่อหยุดข่าวที่ส่งผลต่อภาพลบของรัฐ”
เรากำลังอยู่ในยุคที่รัฐพยายามปกป้องความมั่นคงของตัวเอง ?
สุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
กฎหมายฉบับนี้ไม่เพียงแต่ปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร แต่เป็นการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนด้วย
ซึ่งจากข้อความที่ว่า ‘การกระทำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด จนกระทั่งกระทบกับความมั่นคงของรัฐ ในฉบับก่อนหน้านี้ไม่มี ทำให้เกิดความสงสัยว่า เรากำลังอยู่ยุคโรคระบาด หรืออยู่ในยุคที่รัฐพยายามปกป้องความมั่นคงของตัวเอง
ถ้ารัฐไม่ได้มีเจตนาที่เหวี่ยงแหจเอาผิดสื่อ หรือพี่น้องประชาชนที่เสนอข้อเท็จจริงที่ต่างจากรัฐ ก็ขอให้แถลงเจตนารมณ์ออกมาให้ชัดเจน
สุดท้ายนี้ ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้ยืนยันว่า การออกมาเคลื่อนไหวขององค์กรสื่อ เราไม่ได้ทำเพื่ตัวเอง แต่เราต้องแสดงถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และยืนยันว่าสื่อมืออาชีพไม่ได้ต้องการข่าวปลอม เรายังสู้กับข่าวปลอม 100 % เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน