ศบค.หารือรายละเอียดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงในกทม. ย้ำ ผู้ป่วยสีเขียวสามารถเข้าสู่ระบบ Home isolation ได้ที่โรงพยาบาลที่ไปตรวจ ส่วนผู้ที่ไม่สามารถแยกกับที่บ้านได้จะมี "ศูนย์พักคอย" ดูแล พร้อมเตือนผู้ป่วยที่ออกมาจากบ้านเพื่อรวมตัวจุดใดจุดหนึ่ง อาจเสี่ยงอาการทรุด
23 ก.ค64 แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ระบุว่าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศปก.ศบค. ได้มีการหารือลงรายละเอียดในเรื่องการดูแลผู้ติดเชื้อในส่วนของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อ 3,104 ราย ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมการตรวจด้วยวิธี antigen rapid Test Kit ซึ่งมีจำนวน 2000 กว่าราย ซึ่งใน 1- 2 วันนี้ทางกทม.จะรวบรวมตัวเลขการตรวจทั้งหมดเพื่อนำมารายงานให้เห็นภาพรวมทั้งหมด และจะมีการประกาศให้ประชาชนเข้าใจว่าในแต่ละเขตหรือกลุ่มเขต จะมีจุดที่สามารถให้ตรวจเชื้อทั้ง Swap หรือ antigen rapid Test Kit ที่ใด และจากตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อพบว่า
จากการตรวจเช็ครถในพื้นที่กรุงเทพฯ 100 ราย จะมีผลบวกรายงาน พบผู้ติดเชื้อสูงถึงร้อยละ 11 และหากมีประวัติเป็นผู้สัมผัสในจำนวนนี้จะมีผลยืนยันตามมาทีหลังร้อยละ 15 หรือเป็นผู้ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ หรือ PUI จะกลายเป็นผู้ติดเชื้อได้ถึงร้อยละ 25 ซึ่งทางกรุงเทพฯและสาธารณสุขยังคงสนับสนุนให้ประชาชนสำรวจตัวเอง พยายามเข้าสู่ระบบการตรวจ เพื่อจะได้ทราบว่าเป็นผู้ติดเชื้อและเข้าสู่ระบบการรักษาให้เร็วที่สุด ส่วนในแง่ของการรับผู้ป่วยดูแลอธิบดีกรมการแพทย์ รายงาน อนุกรรมการด้านการรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ได้รายงานว่าในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอเตรียมเพิ่มอีก 868 ราย แต่ต้องเน้นย้ำว่ากรุงเทพฯได้ปิดเคสสะสม หรือนำผู้ป่วยเข้าไปสู่ระบบสำเร็จ121,457 ราย แต่ยังมี ประชาชนที่ไม่เข้าสู่ระบบหรือยังไม่เข้ารับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น อยากให้เห็นว่ากระบวนการทำงานกำลังเร่งดำเนินการอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Breaking News : โควิด19 ติดเชื้อเพิ่มนิวไฮทะลุ 14,575 ราย เสียชีวิต 114 ราย
สุวิทย์ - อรพิน พิพัฒน์วิไลกุล ใช้นิคมอุตสาหกรรมอุดรฯ เปิด ศูนย์มรกต
สื่อนอกตี ระบุไทยเจอวิกฤตโควิด ชาติเดียวในอาเซียนยังไม่เข้าโคแวกซ์
นอกจากนี้มีรายงานผู้ป่วยที่มีอาการอยู่ในขั้นสีแดง 40 ราย ซึ่งจะต้องเร่งเข้าสู่โรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้ป่วยดิสชาร์จกลับบ้าน จะนำผู้ป่วยสีเหลืองสีแดงเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างปลอดภัยให้เร็วที่สุด อีก 1-2 วันนี้จะมีการนำเสนอ ผู้ป่วยที่อยู่ในระดับเขียว เหลือง หรือแดงอยู่ที่เขตใดบ้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
พร้อมกับเน้นย้ำว่าในจำนวนผู้ป่วยจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ร้อยละ 70 ยังเป็นจำนวนผู้ป่วยในลำดับสีเขียว ซึ่งก็ทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เมื่อได้รับผลบวกว่าเป็นติดผู้ติดเชื้อ แต่หากลักษณะอาการอยู่ในสีเขียวก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากขณะนี้แนวทางการปฏิบัติเน้นให้ดูแลตนเองที่บ้าน หรือ Home isolation สิ่งสำคัญคือต้องประเมินตัวเองว่า เป็นผู้มีอาการระดับใด ซึ่งสีเขียวจะเป็นผู้ที่ยังมีอาการแข็งแรงติดเชื้อ อายุน้อย จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสมีถ่ายเหลว แต่ไม่มีอาการในระบบทางเดินหายใจ และต้องเน้นย้ำว่า ถ้ายังไม่ได้รับการยืนยันผลตรวจขอให้กักตัว และเมื่อเข้าไปตรวจเชื้อได้รับผลการยืนยันว่าบวก สามารถเข้าสู่ระบบ Home isolation ได้ที่โรงพยาบาลที่ไปตรวจ ไปหาที่ตรวจแล็ปเอกชน หรือ NGO ที่รับตรวจก็สามารถติดต่อหมายเลข บัตรทอง 1330 กด 14 และ ประกันสังคม 1506 กด 6 โดยเข้าสู่ระบบแล้วจะได้รับกล่องรอดตายจากกทม. เพื่อเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น
โดยสปสช. ระบุว่า แม้ว่าจะเป็นการแยกกักตัวที่บ้าน ก็ยังสามารถเบิกจ่ายได้ตามปกติ รวมทั้งค่าเอกซเรย์ค่ารถในกรณีการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลค่าอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์วัดไข้เครื่องวัดออกซิเจนสำหรับคนไข้ที่ใช้ที่บ้าน 1100 บาท โดยหากอาการทรุดลงจะส่งฟ้าทะลายโจรหรือยาฟาวิพิราเวียไปให้ที่บ้านหรือส่งรถไปรับมานอนยังโรงพยาบาล
ขณะที่ผู้ที่ไม่สามารถแยกกับที่บ้านได้จะมี community isolation หรือศูนย์พักคอย มีผู้เข้าระบบไปแล้ว 1,682 คน โดยในวันนี้ เปิดไปแล้ว 22 เขต และกำลังจะเปิด อีก 14 เขต และอีก 14 เขตกำลังเตรียมสถานที่ จะมีสภากาชาดไทยภาคประชาสังคม NGO เข้ามาช่วยเหลือ จึงต้องขอบคุณทุกฝ่าย เนื่องจาก community isolation จะเป็นศูนย์พักคอยที่เปิดรับให้ประชาชนที่ติดเชื้อมีอาการระดับเขียว แต่ไม่สะดวกกับตัวที่บ้านเข้าไปรับการดูแล โดยจะมีโรงพยาบาลพี่เลี้ยงจำนวน 25 โรงพยาบาล เข้าไปดูแลในเรื่องความปลอดภัย โดยมีโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง สังกัดกรมการแพทย์ 3 แห่ง ราชวิถี นพรัตน์ฯ เลิดสิน โรงเรียนแพทย์แห่งชน 7 แห่ง
ทั้งนี้ยัง ระบุว่า ที่ผ่านมามีข่าวการเชิญชวนให้ผู้ติดเชื้อนั้นออกจากบ้าน ไปรวมตัวกันที่จุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งต้องเน้นย้ำว่าหากเป็นผู้ติดเชื้อมีความเสี่ยงอาจให้อาการทรุดลงได้จึงอยากให้ผู้ป่วยนั้นอยู่บ้าน และติดต่อตามหมายเลขที่ระบุให้ และจะพยายามพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างเร็วที่สุด
ส่วนความพยายามที่จะเข้ามาช่วยตั้งโรงพยาบาลสนามของหน่วยงานต่างๆ แต่บุคลากรทางการแพทย์นั้นขาดแคลน จะมีการบริหารจัดการอย่างไรนั้น แพทย์หญิงอภิสมัยระบุว่า ใน 1-2 วันนี้จะมีการสรุปโรงพยาบาลสนาม โรงพยาบาลที่สามารถดูแลผู้ป่วยในระดับสีเหลืองและสีแดง ซึ่งขณะนี้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนมาก ซึ่งโรงพยาบาลบุษราคัมอาจเป็นสถานที่รับผู้ป่วยสีเหลืองก่อนหน้านี้ แต่ขณะนี้จะมีการปรับรับผู้ป่วยสีแดงเพิ่มขึ้น ขณะนี้มีบุคลากรและอุปกรณ์สามารถที่จะพัฒนา ยกระดับ รับผู้ป่วยในกรณีสีเหลืองจึงขอให้ติดตามข้อมูลที่จะนำเสนอให้ละเอียดชัดเจน แต่ในแง่ของบุคลากรทางกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วง จากการรายงานก่อนหน้านี้มีการขอความร่วมมือบุคลากรต่างจังหวัดโยกมาช่วยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล หลายๆจังหวัดเองก็มีสถานการณ์ที่หนักขึ้นบางที่ระบบเตียงอยู่ที่ร้อยละ 70 แล้ว ในพื้นที่ภาคอีสาน อย่างนั้นบุคลากรจะต้องย้อนกลับไปดูแลประชาชนในพื้นที่ แต่ในวันนี้ จะมีการประชุมกันในเวลา 15:00 น ของกรมการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข ภาคประชาสังคม และสภากาชาดไทย ถึงทิศทางการปรับเตียงเพื่อรับผู้ป่วย