svasdssvasds

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปม เอกสารสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลุด

อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงปม เอกสารสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าหลุด

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ แจงปมเอกสารสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าฯ 3 ล้านโดสว่า เป็นข้อมูลวงประชุมไม่เป็นทางการ ยัน กรมควบคุมโรค ไม่เคยบอกว่าจะฉีดได้ 3 ล้านโดส พึ่งมารู้ในวันที่25 มิ.ย.ว่า วัคซีนแอสตร้าฯที่ผลิตในไทยจะมีการส่งให้ต่างประเทศ ระบุว่าก่อนหน้านี้ไม่รู้มาก่อน

18 ก.ค. 64 จากรณีที่ เอกสารหลุด ที่เป็นการโต้ตอบระหว่างบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทย กับ นาย นายสจอร์ด ฮับเบน รองประธานฝ่ายกิจการองค์กรทั่วโลก ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็นหนังสือลับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า หากดูภาพรวมของหนังสือ บริษัทแอสตร้าฯ ได้ขอบคุณ ทางรองนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่สนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีนของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า  ทำให้สามารถผลิตวัคซีนขึ้นได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศอื่นนอกอาเซียนด้วย รวมถึงรายงาน ที่ทางบริษัทได้ทำมาในการจัดส่งวัคซีนให้ตั้งแต่ต้น ตามข้อกำหนดการจัดส่งวัคซีนที่ทำไว้และมีการเจรจา  ซึ่งโรงงานผลิตวัคซีนในไทยสามารถมอบวัคซีนได้ตั้งแต่ เดือนมิถุนายน และก่อนหน้านี้ทางบริษัท ก็ได้มีการหาวัคซีนให้ไทยล่วงหน้าด้วย และมีการระบุถึงจำนวนวัคซีน โดยไทยมีจองมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนคือ 61 ล้านโดส โดยกำลังการผลิตวัคซีนของบ.สยามไบโอไซฯ จะส่งให้ไทยได้ 1 ใน 3  โดยจะพยายามส่งให้ครบถ้วนตามสัญญา 

ถ้าสังเกตดูในหนังสือสัญญา การเจรจาตอนนั้นการผลิตวัคซีนยังไม่ได้แม้แต่ขวดเดียว  เป็นการทำสัญญาล่วงหน้า เป็นไปไม่ได้ ที่จะมีการระบุว่าเดือนไหนจะส่งจำนวนเท่าไหร่ กี่โดส  แต่ในสัญญา จะระบุเพียงเวลาที่จะส่งโดยจะแจ้งเป็นรายเดือน แต่ละเดือนที่ไทยต้องการ  ซึ่งกรมควบคุมโรคได้มีหนังสือแจ้งไปยังแอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย  ในวันที่ 24 เมษายน  ซึ่งทุกเดือนจะมีการส่งไปให้บริษัท 

โดยในหนังสือ จะระบุว่าจะขอวัคซีนเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส  กรกฎาคม 10 ล้านโดส สิงหาคม 10 ล้านโดส กันยายน 10 ล้านโดส ตุลาคม 10 ล้านโดส พฤศจิกายน 10 ล้านโดส   ธันวาคม 5 ล้านโดส  เป็นหนังสือ ยืนยันว่า ไทยต้องการจำนวนวัคซีนจำนวนเท่าไหร่   การส่งมอบต้องขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตของ แอสตร้าเซนาก้า ในไทยด้วย แต่สิ่งที่ขอไปไม่ได้แปลว่าไทยจะได้ตามที่ขอไป 

ส่วนกรณีในจดหมาย ที่ระบุว่า  ไทยขอให้แอสตร้า จัดส่งวัคซีนให้ 3 ล้านโดสนั้น  นพ.โอภาส  ระบุว่า ข้อมูลนี้ชุดนี้  เป็นการอ้างอิง มาจากวงประชุมแบบไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2563  เมื่อเป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ  ก็เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน   ในเดือนกันยายน 2563 มีการสอบถามว่า ความสามารถในการผลิตและฉีดวัคซีนของไทยอยู่ที่เท่าไหร่  ซึ่ง ขณะนั้นข้อมูลที่มีอยู่ คือ การฉีดอยู่ที่ประมาณวันละ 3 ล้านโดส และ ยืนยัน กรมควบคุมโรค ยังไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการออกมาว่าจะฉีดได้ 3 ล้านโดส   แต่ที่ผ่านมาได้มีตัวเลขประมาณการณ์ ขีดความสามารถของไทยสามารถฉีดวัคซีนอยู่ที่ 10 ล้านโดสต่อเดือน หากวัคซีนมีความเพียงพอ ส่วนการจัดส่งวัคซีน astrazeneca ให้ไทยจะมี 2 ส่วนคือ ความต้องการของประเทศไทย และอีกส่วนคือกำลังการผลิตของบริษัท ทั้งนี้ ในชุด สัญญาวัคซีนแสตร้าฯ มาจาก 3 ฝ่าย คือ กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนฯ และอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย  เป็นการจองวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งแอสตร้าฯระบุไม่ได้ว่า จะมีการผลิตวัคซีนได้เท่าไหร่  ซึ่งการจัดส่งมอบวัคซีน จะมีการเจรจาวัคซีนเป็นรายเดือน 

ส่วนกรณี ที่วัคซีนแอสตร้าฯ ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซน์ฯ มีการจัดส่งไปยังต่างประเทศด้วยนั้น นายแพทย์ โอภาสระบุว่า พึ่งมารู้ในวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่ามา แต่ก่อนหน้านั้น แอสตร้าฯ ก็ไม่ได้ระบุ ว่า วัคซีนที่ผลิตในไทยว่าจะมีการส่งให้ต่างประเทศ   แต่ในสัญญา จะระบุว่า หากจะมีการส่งออกต่างประเทศ ก็ขอให้ไทยสนับสนุนส่งออกวัคซีนไปยังต่างประเทศไม่ให้มีการขัดขวาง การส่งออกโดยไม่สมควร โดยแอสตรัาฯ ยังจัดส่งให้ไทย ให้ทุกสัปดาห์ บางสัปดาห์ก็ส่งให้ 2 ครั้ง 

ส่วนที่มีการรายงานออกมาก่อนหน้านี้ ว่าแอสตร้าเซนเนก้า จะส่งวัคซีนให้ไทย ครบถึงเดือนพฤษภาคม 2565 นายแพทย์โอภาส ระบุว่า ข้อเท็จจริงคือว่าขณะนี้การผลิตของบริษัท astrazeneca ในโรงงานผลิตในประเทศไทย พยายามจะผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น   ขณะนี้กำลังการผลิต เท่าที่ไทยคำนวณ อยู่ที่ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน  ถ้าคิด คือ 1 ใน 3  จะส่งให้ไทยได้ประมาณ 5 ล้านโดสอย่างต่ำ. โดย บริษัทแอสตร้าฯ ไม่เคยระบุว่า จะส่งให้ไทยถึงพฤษภาคม 2565 

ทั้งนี้ การผลิตวัคซีน ขึ้นอยู่ในหลายปัจจัย และชีววัตถุ  ถ้าจะให้บริษัทวัคซีน ระบุชัดๆ ว่าจะได้เท่าไหร่ คงเป็นเรื่องยากที่ทางบริษัทจะรับปากได้ครบถ้วนร้อยเปอร์เซนต์ โดยในสัญญาความต้องการที่ไทยส่งไป  ยังคงยืนยัน  อยู่ที่ 61 ล้านโดส ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้ในเดือนธันวาคมปีนี้  คงต้องมีการเจรจาเป็นรายเดือนต่อไป. 

อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุอีกว่า หลังจากที่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มีการขึ้นทะเบียน อย. ในประเทศไทยเมื่อ 20 มกราคม 2564 ซึ่งประเทศได้รับวัคซีนแอนสตร้าฯ มาแล้วทั้งหมด  8,193,500 โดส ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธุ์ - 16 กรกฎาคม 2564 แบ่งเป็น 

28 ก.พ.64   117,300  โดส
28 พ.ค.64   242,100  โดส 
4 มิ.ย.64    1,787,100 โดส
16 มิ.ย.64    610,000  โดส
18 มิ.ย. 64   970,000  โดส
23 มิ.ย. 64  593,300   โดส
25 มิ.ย. 64    323,600 โดส
30 มิ.ย. 64    846,000 โดส 
3 ก.ค. 64    590,000  โดส
9 ก.ค. 64   555,400 โดส
12 ก.ค   1,053,090   โดส (เป็นล็อตญี่ปุ่นบริจาค)
16 ก.ค  64   505,700 โดส 

ทั้งนี้ภาพรวมในแผนการฉีดวัคซีนของไทยตามศักยภาพที่ประมาณการณ์ ไว้อย่างน้อย 10 ล้านโดสต่อเดือน  แผนในขณะนี้ยังคงเป็น 10 ล้านโดสอยู่ โดยมีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และ แอสตร้าเซนเนก้าที่จะส่งให้จังหวัดต่างๆ กำหนดให้กลุ่มเป้าหมายหลัก แต่กลุ่มเป้าหมาย ก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์. 

related