เหตุการณ์ โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ นับเป็นอีกหนึ่งของเศร้าบนปี 2021 ของไทย เหตุการณ์นี้ถือว่าแผลยังสด ฝุ่นแห่งวิกฤตยังไม่จางลง อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ ก็เคยมีเหตุการณ์ซึ่งคล้ายกัน เราลองถอดบทเรียนต่างประเทศ มุมคิด แนวแก้ไข เพื่อเป็นแนวทางในแก้อุบัติภัยครั้งนี้กัน
#โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ มีผลกระทบกับผู้คนในวงกว้าง และเป็นเหตุภัยพิบัติที่ดูจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะเรื่องสารเคมีติดไฟอย่างยาวนาน และระเบิดอย่างรุนแรงนั้น ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวหากใช้มาตรวัดอดีต อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เหตุการณ์ #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ น่าจะสามารถถอดเป็นบทเรียนได้ และหาแนวทางในระวังป้องกัน รวมถึงแก้ไข ได้อย่างทันท่วงที หากมีเหตุลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศ ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกัน ลองมาดูกันว่า ในต่างประเทศ มีแนวทางแก้ไขอะไรบ้าง รวมถึง มีความเปลี่ยนแปลงใดๆบ้าง จากการเกิดเหตุ หายนะกับโรงงานอุตสาหกรรม
สภาพโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากโรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ : สดุดีนักดับเพลิง ทุกเหตุการณ์สำคัญของโลก
ธรรมนัส แจง ลุยพื้นที่ ไฟไหม้กิ่งแก้ว เหตุ สส.ในพื้นที่กักตัว จึงต้องเข้าไป
บทเรียนจากระเบิดที่เบรุต
ย้อนเข็มนาฬิกากลับไปไม่นาน ปี 2020 ความทรงจำของใครหลายคนน่าจะยัง จำกันได้ดี กับเหตุการณ์ ระเบิดโกดังท่าเรืออ่าวเซนต์ จอร์จ ในกรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2020 จนกระทั่งคร่าชีวิตผู้คนจำนวนกว่า 100 ราย บาดเจ็บกว่า 4,000 คน และสูญหายอีกจำนวนมาก
สาเหตุของระเบิดครั้งนั้น เกิดจาก สาร "แอมโมเนียมไนเตรท" (Ammonium Nitrate) น้ำหนัก 2,750 ตัน ที่ถูกเก็บไว้ในท่าเรือ และทันทีที่ระเบิดขึ้นรัศมีโดยรอบท่าเรือเกือบ 4 กิโลเมตรราบเป็นหน้ากลอง แรงสั่นสะเทือนไปไกลถึง 240 รัศมีกม. ทุกสิ่งทุกอย่างหายวับไปกับตา เรื่องราวมันเหมือนกับฝันไป...และมันเป็นฝันร้าย เพราะมันคือเรื่องจริง
จากบทเรียน ระเบิดที่เบรุต จนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกนั้น
นายก ฮัสซัน ดิอับ นายกรัฐมนตรีเลบานอน ณ เวลานั้นประกาศลาออกจากตำแน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดครั้งใหญ่ หลังจากเกิดเหตุ 6 วัน ทั้งที่จริงๆแล้ว นายก ฮัสซัน ดิอับ เพิ่งจะอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของประเทศได้ราว 7 เดือนเท่านั้นเอง
ในความจริงแล้ว แม้ไม่มีเหตุระเบิดที่ท่าเรือเกิดขึ้น สภาพการเมืองของเลบานอนก็ง่อนแง่นอยู่แล้ว เพราะห้วงเวลานั้น เลบานอนกำลังเผชิญกับวิกฤติทางการเงินและประชาชนเกินครึ่งมีสถานะยากจน
ดังนั้น เหตุระเบิดที่เบรุตยิ่งเป็นตัวจุดฉนวนให้ นายกฮัสซัน ดิอับ อยู่ในตำแหน่งไม่ได้ และมีการประท้วงจนลุกลามเป็นเหตุความรุนแรง เพราะ สิ่งที่เกิดขึ้นมันคือ ความผิดที่เกิดขึ้นจากความหละหลวมของหน่วยงานรัฐ
หลังจากนั้น ทางการเลบานอนเริ่มกล่าวโทษกันไปมาต่อการที่ปล่อยให้มีวัสดุประกอบระเบิดตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนมานานกว่า 6 ปี ในจุดที่ระเบิด มีการตั้งคำถามจากภาคประชาชนเลบานอน และ มีเจ้าหน้าที่ 16 คนถูกควบคุมตัวเพื่อสอบสวน
บทเรียนที่สำคัญ จากเหตุระเบิดครั้งนั้น กล่าว คือ เพื่อความปลอดภัยไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่นเบรุต หลักการเก็บแอมโมเนียไนเตรทมีวิธีใดบ้างนั้น ซึ่งรศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เปิดเผย 3 ปัจจัย ประกอบด้วย 1. ห่างไกลประกายไฟ 2.อากาศปลอดโปร่ง 3. ไม่แออัด ต้องอยู่ห่างไกลชุมชน
โรงงานปุ๋ยเท็กซัส
อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ ในภัยพิบัติเกี่ยวกับโรงงาน เกิดขึ้นที่สหรัฐ 17 เมษายน ปี 2013 มีเหตุระเบิดของแอมโมเนียมไนเตรตที่สถานที่จัดเก็บและจำหน่ายของบริษัทปุ๋ยเวสต์ เฟอร์ติไรเซอร์ ในเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
แรงระเบิดโรงงานปุ๋ยเท็กซัสครั้งนั้น สามารถรับรู้ได้ไกลในรัศมีกว่า 20 กิโลเมตร เพราะมันทำให้แผ่นดินไหวถึง 2.1 แม็กนิจูด ขณะที่ประชาชนกว่า 2 พันคนไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้นานหลายชั่วโมง ขณะที่ฝุ่นผง และกลิ่นเหม็นของสารเคมีได้ฟุ้งกระจายไปในอากาศไกลถึง 4 กิโลเมตร
โรงงานปุ๋ยเท็กซัสระเบิดครั้งนั้น ทำให้มี ผู้เสียชีวิต 15 คน ในจำนวนนี้เป็นนักดับเพลิง 12 ราย บาดเจ็บราว 200 คน และอาคารกว่า 150 หลังพังเสียหายรวมถึงโรงเรียนและบ้านพักคนชรา
ทางการสหรัฐ มีการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน มีเจ้าหน้าที่เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่และมีการใช้เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงคนเจ็บ
ที่จริงแล้ว 10 วันก่อนการระเบิด ก็มี เจ้าหน้าที่ฯ เข้าทำการตรวจสอบโรงงานตามกำหนดแต่ไม่พบข้อผิดปกติ ใดๆ จึงมีการสันนิฐาน กันว่า เหตุระเบิดครั้งนี้อาจเป็นเพราะความประมาทของมนุษย์
สำหรับ เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ในปี 2015 หรือใน 2 ปีต่อมา สภานิติบัญญัติเท็กซัสผ่านร่างกฎหมาย House Bill 942 เพื่อควบคุมการจัดเก็บและการตรวจสอบแอมโมเนียมไนเตรต ให้เป็นระบบ และปลอดภัยมากขึ้น
ตลอดจนให้อำนาจคณะกรรมาธิการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของเท็กซัสและเจ้าหน้าที่ดับเพลิงท้องถิ่นบังคับใช้กฎระเบียบอย่างจริงจังกับโรงงาน
ขณะที่ สำนักงานแอลกอฮอลล์ ยาสูบ อาวุธ และระเบิด ATF ร่วมด้วยสำนักงานดับเพลิงเท็กซัส ร่วมกันประกาศว่าจะดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น
จะเห็นได้ว่า เหตุอุบัติภัยในลักษณะที่คล้ายกับ #โรงงานกิ่งแก้วไฟไหม้ ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ จะมีบทลงโทษ มีผู้ที่ต้องรับผิดชอบทั้งทางตรงและทางอ้อม และในต่างประเทศนั้น ไม่มีทางที่คนผิดจะลอยนวลไปกับสายลมแน่นอน
มีขั้นตอนของการแก้กฏหมาย มีการถอดบทเรียนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้ทุกอย่างดีขึ้น ควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ได้ดีขึ้น เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือชีวิตของประชาชน...